พันธะ
วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553
ญี่ปุ่น...อีกแล้ว (2)
ญี่ปุ่น...อีกแล้ว (2)
เมืองออนเซ็น...ยูฟูอิน
หลังจากนอนเอาแรงในคืนแรกที่ฮากะตะ เช้าวันรุ่งขึ้นเราสามคนตื่นแต่เช้า ลงมารับประทานอาหารเช้าในห้องอาหารเล็ก ๆ ในโรงแรม ที่โรงแรมมีห้องอาหารเช้าให้เลือกสองประเภท ห้องที่เราเลือก มีอาหารที่เราค่อนข้างจะคุ้นเคย เช่นข้าวญี่ปุ่น ปลาย่าง ไส้กรอก ไข่กวน ซุปเต้าเจี้ยว และเครื่องเคียงนับสิบชนิด ส่วนอีกห้องเป็นห้องอาหารญี่ปุ่นขนานแท้ เสริฟเป็นเซ็ท ซึ่งไปเดินเมียงๆมองๆ ดูแล้วไม่น่าจะต้องรสนิยม เมื่อจัดการอาหารเช้าเสร็จเรียบร้อยก็ขึ้นไปเอากระเป๋าใหญ่มาฝากไว้ในห้องรับฝากกระเป๋าของโรงแรม ลากกระเป๋าเล็กคนละใบเดินไปสถานีรถไฟ จุดมุ่งหมายของเราวันนี้คือเมือง
ยูฟูอิน (YUFUIN)
ยูฟูอิน (YUFUIN)
ยูฟูอิน เป็นเมืองออนเซ็นเล็ก ๆ ในจังหวัดโออิตะ (OITA)ทางภาคตะวันออกของเกาะคิวชู เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของน้ำแร่ธรรมชาติ และเป็นที่รู้จักของคนไทยในฐานะที่เป็นเมืองต้นแบบหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จะว่าไปแล้วนับเป็นโชคดีของเมืองยูฟูอิน ที่มีผู้นำชุมชนที่มองการณ์ไกล เล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติในเมืองยูฟูอินที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือเป็นเมืองที่มีน้ำพุร้อนเป็นแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติมากมาย ความคิดที่จะพัฒนายูฟูอินให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จึงเกิดขึ้น จนทุกวันนี้เมืองเล็กๆอย่างยูฟูอินที่มีผู้คนอาศัยอยู่เพียงหมื่นกว่าคน ต้องเปิดประตูบ้านรับนักท่องเที่ยวที่ถาโถมเข้ามาถึงปีละ 2 ล้านคน แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนในชุมชนก็ยังคงอยู่แบบพอเพียง ไม่ถือโอกาสกอบโกย โรงแรมที่พักก็ยังคงมีจำนวนจำกัด รับนักท่องเที่ยวได้ไม่มากเกินไป เพื่อสร้างให้วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนเกิดความสงบสุข
วันนี้จึงเป็นวันที่เราใช้ตั๋วรถไฟ JR Kyushu เป็นวันแรก เราขึ้นรถขบวนที่ชื่อว่า ยูฟูอิน โนะ โมริ (YUFUIN NO MORI) รถไฟออกจากสถานีฮากะตะเวลา 09.16 น.ฉันเช็คสภาพอากาศมาล่วงหน้า จึงรู้ว่าวันนี้จะมีฝนในช่วงเช้า และช่วงบ่ายจะมีฝนตกประปราย พยากรณ์อากาศที่ประเทศญี่ปุ่นแม่นเหมือนจับยามสามตา เพราะระหว่างเดินทางก็มีฝนโปรยปรายตลอดเวลา ภูมิประเทศสองข้างทางฉ่ำฝน มีสายหมอกบางๆ เรี่ยพื้นดินให้เห็นเป็นระยะ
รถด่วนขบวนนี้ถึงยูฟูอินตรงเวลาเป๊ะ คือเวลา 11.28 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณสองชั่วโมงกว่าหน่อยๆ ฉันเคยเดินทางมาที่เมืองเล็กๆในหุบเขาแห่งนี้สองครั้งแล้ว ครั้งแรกมากับอาจารย์ปี๋เพื่อหาที่แช่น้ำแร่ ครั้งที่สองมากับครอบครัว แต่ไม่มีโอกาสได้พักค้างแรมเลย เพราะค่าที่พักแพงเหลือใจ ก็ได้แต่หมายมั่นปั้นมือไว้ว่าคงมีโอกาสสักวัน
และโอกาสนั้นก็มาถึง ตอนวางแผนการเดินทาง ฉันในฐานะหัวหน้าทัวร์ขอบรรจุโปรแกรมค้างคืนที่ยูฟูอินเอาไว้ด้วย และได้แจ้งราคาเรียวกังที่เราจะพักค้างคืนให้อาจารย์ทั้งสองท่านรับทราบ ที่พักที่ฉันจองชื่อ RYOKAN HIKARI-NO-IE ราคาคืนละ 37,800 เยน ในขณะที่ที่พักใจกลางเมืองในฮากะตะที่เราพักราคาเพียง 13,000 เท่านั้น เราจึงพยายามไม่คิดแปรค่าเงินเป็นเงินบาทไทยกันเลย
เนื่องจากว่าฉันไม่เคยมาพักที่เมืองนี้และไม่มีคนแนะนำเรื่องที่พัก ฉันจึงใช้บริการจากเว็บไซต์ http://www.japanhotel.net ซึ่งก็มีที่พักให้เลือกเพียงไม่กี่แห่ง แต่ที่ฉันต้องการพักคือเรียวกังที่มีบรรยากาศเป็นบ้านญี่ปุ่นแท้ ๆ และพระเจ้าก็ดลบันดาลให้ฉันจิ้มเลือกเรียวกังแห่งนี้ เพราะดูแผนที่และคำอธิบายแล้ว ก็ไม่น่าจะห่างไกลนัก เพราะถ้านั่งแท๊กซี่จากสถานีรถไฟก็จะใช้เวลาเพียง 5 นาที เท่านั้น
แต่อนิจจา ฉันลืมไปว่า เมืองที่รถไม่ติดเช่นยูฟูอิน ห้านาทีจากสถานีรถไฟก็พาเราไปไกลแทบจะออกนอกเมือง ฉันกับอาจารย์ปี๋หันมามองหน้ากัน ตายละวา เราจะพาอาจารย์โก้เดินเข้าเมืองได้อย่างไร เพราะเมื่อวานฉันก็ทรมานอาจารย์โก้ด้วยการเดินที่ดาไซฟุจนเท้าระบมมาหยก ๆ คนอื่นอาจจะคิดว่าก็นั่งแท๊กซี่เข้าเมืองก็ได้ แต่ไม่ใช่ฉันและอาจารย์ปี๋ เรามีความสุขที่จะเดินเก็บเกี่ยวความงดงามของสิ่งเล็กสิ่งน้อยสองข้างทางไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะไม่มีวันสัมผัสได้เลยถ้าเรานั่งรถ
เมื่อเข้าที่พักซึ่งเป็นบ้านของสองสามีภรรยาที่ดัดแปลงห้องต่าง ๆ เป็นห้องพัก ฉันก็ควักแผนที่เมืองยูฟูอินที่หยิบจากสถานีรถไฟ อธิบายเส้นทางที่เราจะต้องเดินเข้าเมือง ตอนนี้เรายังมีแรงฉันขอให้ลองเดินดูก่อน ถ้าเหนื่อยหรือเมื่อยเราค่อยนั่งแท๊กซี่แทน ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านก็เห็นด้วย
และก็ไม่น่าผิดหวัง เพราะบ่ายนี้ฝนหยุดตก อากาศต้นเดือนมีนากำลังสบาย ทุกลมหายใจที่สูดเข้าไปสัมผัสได้ถึงอากาศที่สดสะอาด ดอกไม้เล็กเล็กสีสันสดใสสองข้างทางที่เราไม่รู้จักชื่อ ไม่แม้แต่เคยเห็น แข่งกันบานอวดโฉมให้ผู้มาเยือนหยุดเก็บภาพเป็นระยะ ระหว่างทางมีบ่อน้ำแร่อุ่น ๆ ให้แช่เท้าคลายเมื่อย ระยะทางไกลหลายกิโลเมตรจึงดูไม่น่าเบื่อและเนิ่นนานอย่างที่คิด
เมืองยูฟูอินเป็นเมืองน่ารักเกินกว่าที่จะมาสัมผัสเพียงผิวเผิน บ่ายนี้เรามีเวลาแค่เดินตามถนนที่สองข้างทางยาวเหยียดหลายกิโลเมตรจัดเป็นร้านรวงสวยงามจับใจ คนที่หลงใหลได้ปลื้มกับแมวอย่างอาจารย์ปี๋ พอใจนักหนากับร้านที่ทุกอย่างเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแมว อาจารย์โก้กับฉันเพลิดเพลินกับร้านที่มีของที่ระลึกจากการ์ตูนเรื่อง Hakaba Kitaro และ Monchhichi นอกเหนือจากนั้นร้านขายของแฮนด์เมด ที่มีน้อยชิ้นไม่ซ้ำแบบใครก็ถูกใจอาจารย์โก้เป็นอันมาก ข้าวของที่น่ารักเหลือใจทำให้เราสามคนเทกระเป๋าไปเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
ตกเย็นเรานั่งแท๊กซีกลับที่พัก ห้องพักในเรียวกังอันเป็นที่พำนักในค่ำคืนนี้ปูด้วยเสื่อทะทะมิ มีประตูเลื่อน ผนังกระดาษ ไม่มีเตียงแต่ใช้เป็นที่นอนฟุตงปูเรียงกันสามที่ ไม่มีห้องอาบน้ำในห้องพัก แต่จะมีบ่อน้ำแร่ที่แยกเป็นห้องอาบน้ำชายหญิงอยู่ชั้นล่าง โชคดีที่เรียวกังแห่งนี้ไม่ค่อยมีแขกมาพัก เราสามคนจึงไม่กระดากใจมากนักที่จะลงไปอาบน้ำแบบญี่ปุ่นแท้ๆ เราสวมยูกะตะไปที่ห้องอาบน้ำ กรรมวิธีก่อนลงแช่น้ำก็ไม่ยุ่งยาก เพียงเราถอดเสื้อผ้าไว้ในตะกร้าที่จัดให้ และนั่งบนเก้าอี้ไม้เตี้ย ๆ หันหลังให้กัน อาบน้ำล้างตัวก่อนลงแช่ แต่...ถึงแม้จะมีเพียงเราสามคน ก็มิอาจหย่อนตัวเปล่า ๆ ลงในบ่อน้ำได้ เราจึงมีผ้าผืนขนหนูผืนเล็กๆเล็กมาก ปิดกายได้บางส่วนค่อยๆ กระมิดกระเมี้ยนก้าวลงน้ำไปทีละคน อากาศเยือกเย็นประจวบกับร่างกายอ่อนล้า เมื่อได้สัมผัสกับน้ำแร่ธรรมชาติที่อุ่นจัด จึงรู้สึกผ่อนคลายสบายใจอย่างบอกไม่ถูก เรานั่งๆนอนๆ แช่น้ำคุยกันเรื่องจิปาถะประมาณครึ่งชั่วโมงก็ทะยอยกันขึ้น
เมื่อถึงเวลารับประทานอาหารเย็น เราลงมาชั้นล่าง ห้องครัวอยู่ติดห้องอาหาร เราเห็นพ่อครัวแม่ครัวสองสามีภรรยาเตรียมอาหารให้เราง่วนอยู่ อาหารที่รับประทานในเรียวกังประกอบขึ้นจากผลผลิตในท้องถิ่นเป็นหลัก จัดวางอย่างสวยงาม จึงไม่เพียงแต่อิ่มท้องเท่านั้น หากอิ่มใจไปกับหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภาชนะอีกด้วย ฉันนึกเห็นใจแม่บ้านญี่ปุ่น เพราะสำรับอาหารสำหรับแต่ละคน ก็ประกอบด้วยจานชามถ้วยเล็กถ้วยน้อยนับสิบชิ้น
หนึ่งวันที่ยูฟูอินผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว พรุ่งนี้เรามีเวลาอ้อยอิ่งอีกเกือบเต็มวัน เพื่อชื่นชมเมืองเล็กๆในหุบเขาที่เต็มไปด้วยงานศิลปะ ค่ำคืนนี้เราซุกตัวใต้ผ้าห่มหนานุ่ม นอนหลับสนิทฝันดีในเรียวกังเมืองยูฟูอิน ประเทศญี่ปุ่น
วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553
วิจารณ์ "824: เรื่องราวของแปดชีวิตในยี่สิบสี่ชั่วโมง"
824 :เรื่องราวของแปดชีวิตในยี่สิบสี่ชั่วโมง
ชฎารัตน์ สุนทรธรรม
แม้ว่างานวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้น นวนิยายแนวคตินิยมสมัยใหม่ หลังสมัยใหม่ รวมถึงวรรณกรรมเสียดสีสังคมหลังสมัยใหม่กำลังมาแรงในทศวรรษนี้ แต่นวนิยายเรื่อง “824” ของ งามพรรณ เวชชาชีวะ ก็ไม่ได้เลื่อนไหลไปตามกระแส นวนิยายของเธอยังคงทำหน้าที่สะท้อนแง่มุมที่งดงามของชีวิต ถ่ายทอดด้วยภาษาที่อ่านง่ายแต่ทรงพลัง ทำให้ผู้อ่านเต็มอิ่มไปกับความรัก หลากหลายรูปแบบและซาบซึ้งกับความเอื้ออาทรระหว่างเพื่อนมนุษย์ ปรากฏการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่นับวันจะพานพบได้ยากยิ่งในสังคมปัจจุบัน
เทคนิคการนำเสนอ
นวนิยายเล่มนี้สะดุดตาที่หน้าปกสีเหลืองสดใสผสานกับชื่อเรื่องแปลกแหวกแนว แต่ก็ไม่ได้สร้างความสับสนงุนงงให้กับผู้อ่าน เพราะความหมายของชื่อเรื่อง “824” ถูกเฉลยไว้ด้วยตัวอักษรสีแดงขนาดย่อมบนชื่อเรื่องว่า “เรื่องราวของแปดชีวิตในยี่สิบสี่ชั่วโมง” ตัวละครทั้งแปดปรากฏบนปกด้วยเทคนิคภาพเงาของมนุษย์ชายหญิงเจ็ดชีวิตและสุนัขอีก 1 ตัว
นวนิยายเรื่อง “824” ประกอบไปด้วยเนื้อหา 32 ตอน ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ เนื่องจากชื่อเรื่องเป็นตัวกำหนด 8 ตอนแรก เป็นเรื่องราวของตัวละครทั้งแปดชีวิต และอีก 24 ตอน ในช่วงหลังดำเนินเรื่องตามลำดับเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงตั้งแต่ 7.00 น. ถึง 6.00 น.ของวันรุ่งขึ้น การขึ้นต้นด้วย “คำโปรย” ในตอนที่หนึ่งถึงตอนที่แปด เช่น “ลุงสุขกับป้าแสงคู่ประหลาดในสายตาของชาวบ้าน” “ถึงไม่มี กูก็ไม่เคยขอใครกิน” “มอมแมมวิ่งมาที่ศาลเจ้าทุกเช้า” หรือ “มีนาเป็นลูกเป็ดขี้เหร่ของคนในซอย” เหล่านี้ ทำให้นึกถึงนวนิยายรางวัลซีไรต์ผลงานของผู้เขียนคนเดียวกันในเรื่อง “ความสุขของกะทิ” และเรื่อง “ตามหาพระจันทร์” ที่งามพรรณใช้เทคนิคนี้ในการสร้างความสนใจใคร่รู้หรือเป็นการบอกนัยยะเกี่ยวกับตัวละครที่กำลังโลดแล่นอยู่ในแต่ละตอน และตั้งแต่ตอนที่เก้า
เป็นต้นไป ผู้เขียนจะใช้เวลาเป็นตัวกำหนดการดำเนินเรื่องจนครบยี่สิบสี่ชั่วโมง
กลวิธีการสร้างตัวละคร
ตัวละครทั้งแปดของเรื่อง “824” ได้แก่ลุงสุข ป้าแสง ลุงต่อ มอมแมม มีนา มิเชล ป้าแหวง และเจ๊ศรี ดำเนินชีวิตอยู่ในซอยเดียวกันชื่อ “ซอยอยู่สบาย” ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายฉากของซอยนี้ไว้ในตอนเปิดเรื่องว่า
“อย่างแรกก็ต้องโทษ ‘ซอยอยู่สบาย’ ที่ไม่กว้างขวางจอแจ ผู้อยู่อาศัยไม่หนาแน่นทำให้คุ้นหน้าคุ้นตาและอดไม่ได้ที่จะสนใจกัน ผิดวิสัยคนในเมืองใหญ่ทั่วไปที่มักจะต่างคนต่างอยู่ สภาพซอยก็ออกจะเป็นแนวลูกผสม มีลักษณะครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพราะพื้นผิวที่เทคอนกรีตมีสองเลน รถแล่นสบายนั้นมีมาถึงแค่ค่อนซอยก็หมดบุญเอาดื้อ ๆ ทำให้ส่วนท้ายซอยเล็กแคบ เป็นถนนขรุขระ มีหลุมบ่อน้ำท่วมขัง ...ซอยนี้จึงแบ่งแยกเป็นครึ่งแรกและครึ่งหลัง ชาวบ้านที่อยู่ริมถนนคอนกรีตหรือ ครึ่งแรก จะใช้คำว่าพวกโน้น เมื่อหมายถึงผู้อยู่ตึกแถวสองชั้นริมถนนที่เป็นหลุมบ่อ และผู้อยู่ตึกแถวริมถนนที่เป็นหลุมบ่อหรือ ครึ่งหลัง ก็จะใช้คำว่า พวกโน้น ยามพาดพิงถึงบรรดาบ้านเดี่ยวมีรั้วรอบขอบชิดและตึกแถวร้านค้าสี่ชั้นริมถนนคอนกรีต...” (หน้า 11 – 12)
งามพรรณปูพื้นฐานให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครในซอยอยู่สบายไว้ในแปดตอนแรก ไม่ว่าจะเป็น ลุงต่อ มอมแมม มีนา มิเชล ป้าแหวงและเจ๊ศรี รวมทั้งตัวละครอื่นที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในซอยอยู่สบายแต่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับผู้คนในซอยนี้ เช่น เสมอ นายของมอมแมม สันทัดคนรักของมีนา หรือจรรยาที่ในอดีตเคยตกหลุมรักลุงสุข ภูมิหลังของตัวละครทุกตัวผู้เขียนถ่ายทอดด้วยภาษาที่ละเมียดละไม ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุผลของการกระทำและสัมผัสได้ถึงนิสัยใจคอของตัวละครแต่ละตัวได้อย่างแจ่มชัด จะมียกเว้นก็แต่ลุงุสุขกับป้าแสงซึ่งเป็นตัวละครคู่สำคัญที่ผู้เขียนใช้กลวิธีการหน่วงเรื่องทำให้ผู้อ่านค่อย ๆ รับรู้ชะตาชีวิตของคนทั้งสองที่ต้องพลัดพรากจากกันนานนับยี่สิบปี กว่าผู้อ่านจะต่อจิ๊กซอภาพชีวิตของลุงสุขกับป้าแสงได้ครบก็ต่อเมื่ออ่านจนจบเรื่อง และเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจเมื่อต้องรับรู้ว่ากว่าโชคชะตาจะบันดาลให้ทั้งสองได้พบกันได้อยู่ดูแลกันอีกครั้ง ก็เป็นไปในลักษณะที่ “เป็นความทรงจำแสนล้ำค่าของคนหนึ่ง ขณะที่ไม่หลงเหลือตราประทับใดไว้ในความทรงจำของอีกคนหนึ่งเลย” (หน้า 58) ในส่วนที่เหลืออีกยี่สิบสี่ตอนหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือช่วงเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงต่อมา ผู้เขียนจะสอดร้อยเรื่องราวให้ตัวละครทั้งแปดดำเนินชีวิตไปตามความฝัน ความหวังและตามครรลองชีวิตของแต่ละคน
ภาพสะท้อนของความรักหลากหลายรูปแบบ
ในส่วน “คำนำผู้เขียน” งามพรรณกล่าวไว้ว่า “824 เป็นเพียงเส้นทางหนึ่งที่ผู้เขียนเลือกพาผู้อ่านไปพบกับแปดชีวิตที่ล้วนมีหัวใจหนึ่งเดียวในอก หัวใจที่มีความหวัง ความฝัน และความรักที่จะมอบให้ ความสมหวังในความรักเป็นสิ่งที่หัวใจทุกดวงปรารถนา แต่การจะได้มาย่อมต้องแลกด้วยสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งความรักเองด้วย” (หน้า 6)
เรื่องราวของความรักจึงเป็นแนวคิดสำคัญของนวนิยายเรื่องนี้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วความรัก ความสัมพันธ์ของตัวละครหลายคู่ในเรื่องจะลงเอยอย่างไรก็ยากที่จะคาดเดา เพราะผู้เขียนได้นำเพียงส่วนเสี้ยวของชีวิตตัวละครมาให้ผู้อ่านได้สัมผัส ซึ่งล้วนเป็นส่วนเสี้ยวของชีวิตที่สะท้อนให้เห็นแง่มุมที่งดงามในเรื่องความรักและความเอื้ออาทร ยกตัวอย่างเช่นความรักของลุงสุขกับป้าแสง
ลุงสุขหรือสุขวิทย์ จิตงาม เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาเขาเป็นนักกีฬาลีลาศที่มีฝีไม้ลายมือขึ้นชื่อ การอยู่ในชมรมลีลาศทำให้เขารู้จักกับอาจารย์แสงดาว อาจารย์สาวนักเรียนนอกที่หลายคนหลงใหลใฝ่ฝันรวมทั้งสุขวิทย์เองด้วย แต่ด้วยสถานภาพ อายุ รวมทั้งฐานะที่แตกต่างกันทำให้สุขวิทย์ไม่อาจเอื้อมที่จะแสดงความในใจให้แสงดาวได้รับรู้ และในขณะนั้นจรรยานักศึกษาสาวต่างคณะที่เป็นคู่เต้นรำของสุขวิทย์ในการแข่งขันกีฬาลีลาศระดับมหาวิทยาลัยก็หลงรักสุขวิทย์อยู่ หลายคนในชมรมรวมทั้งแสงดาวเห็นว่าทั้งคู่เป็นคู่รักที่เหมาะสมกันอย่างยิ่ง ...แต่สายตาและหัวใจของสุขวิทย์ไม่เคยเป็นของจรรยาเพราะเขาได้มอบให้กับคนคนหนึ่งที่อยู่ “สูง” กว่าเขาไปเสียแล้ว...(หน้า 24)
ความสนิทสนมของสุขวิทย์และแสงดาวพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ แสงดาวมักเปิดบ้านชวนเพื่อน ๆ และสุขวิทย์มาซ้อมลีลาศอยู่เสมอ ความใกล้ชิดทำให้สุขวิทย์เกิดความผูกพันกับแสงดาวมากขึ้น แต่เป็นความผูกพันที่เกิดขึ้นและงอกงามอยู่ในใจของสุขวิทย์เพียงฝ่ายเดียว เพราะสำหรับแสงดาวนั้น สุขวิทย์เป็นเพียงเพื่อนที่เธอรู้ว่าจะอยู่เคียงข้างเธอเสมอทั้งในยามสุขและทุกข์ ไม่ได้คิดเกินเลยไปกว่านั้นและเธอเห็นว่าจรรยาเหมาะสมกับสุขวิทย์เป็นที่สุด เมื่อวันหนึ่งสุขวิทย์เผลอแสดงความในใจให้แสงดาวได้รับรู้ เธอจึงตกใจและคาดไม่ถึง
แต่เรื่องราวของความสัมพันธ์ของคนทั้งสองก็ต้องสะดุดหยุดลงเมื่อสุขวิทย์ได้รับบาดเจ็บจากการแข่งขันลีลาศ เขาเอาตัวเข้าปกป้องแสงดาวเมื่อถูกคู่เต้นรำอีกคู่หนึ่งวิ่งเข้ามาชน ทำให้เขาต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ประจวบกับท่านนายพลพ่อของแสงดาวถูกสอบสวนในคดี
ฉ้อราษฎร์บังหลวงและต้องหลบหนี แสงดาวต้องติดตามท่านนายพลไปด้วย และเมื่อแสงดาวมาเยี่ยมสุขวิทย์อย่างเร่งรีบในวันที่เธอจะต้องออกเดินทาง แต่สุขวิทย์ยังไม่ฟื้น เธอจึงฝากจดหมายไว้กับจรรยา จรรยาจงใจไม่ให้สุขวิทย์ได้รับรู้ เธอเก็บจดหมายฉบับนั้นไว้ถึงยี่สิบปี เมื่อได้พบกันอีกครั้งจรรยาสำนึกผิด เธอจึงมอบจดหมายให้กับสุขวิทย์และกล่าวขอโทษแสงดาว แต่แสงดาวอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถรับรู้เรื่องราวใด ๆ ได้อีกต่อไป เพราะเธอป่วยด้วยโรค “เอฟทีดี” เป็นโรคที่ทำให้สูญเสียความทรงจำและความสามารถในการพูดไปทีละน้อย แต่เธอก็ไม่ได้ต่อสู้กับโรคร้ายเพียงลำพัง เพราะเมื่อสุขวิทย์ได้ข่าวความเจ็บป่วยของแสงดาว เขาอาสารับเธอมาดูแลในยามที่เธอช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกต่อไป ความรักของสุขวิทย์ที่มีต่อแสงดาวไม่ใช่ความรักที่ฉาบฉวย หรือหลงใหลในรูปลักษณ์ที่งดงามแบบชายหนุ่มรักหญิงสาวเหมือนเมื่อยี่สิบปีก่อน แต่เป็นความรัก ความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจและความเสียสละที่เกิดขึ้นและคงอยู่ในหัวใจที่มั่นคงตลอดมา ความสมหวังของสุขวิทย์ต้องแลกมาด้วยรักและความปวดร้าว เพราะถึงแม้จะได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในบั้นปลาย แต่แสงดาวไม่ได้หลงเหลือความทรงจำที่ดีงามใด ๆ เกี่ยวกับเขาอีกต่อไป
ตัวละครที่มีสีสันอีกตัวหนึ่งในนวนิยายเรื่องนี้คือป้าแหวง ผู้ซึ่งเชื่อมั่นว่าตนเองเป็นหญิงเต็มร้อย แม้ว่าร่างกายจะเป็นอื่น ป้าแหวงมีรายได้พอกินพอใช้จากฝีมือการรับจ้างปักผ้าพอเลี้ยงหนุ่ม ๆ ที่แวะเวียนเข้ามาในชีวิต ความรักของป้าแหวงเหมือนโชคชะตาเล่นตลกอยู่ตลอดเวลา เพราะป้าแหวงรู้ว่าด้วยสถานภาพที่เป็นอยู่จะหารักแท้และความจริงใจจากใครอื่นได้ยาก ป้าแหวงตระหนักดีว่าสำหรับเธอเองแล้ว ความรัก ถ้ายิ่งวิ่งไล่ มันมักวิ่งหนี ไขว่คว้าได้เพียงความว่างเปล่า ไม่เคยเติมหัวใจป้าแหวงให้เต็มได้ แต่ถ้าเผลอมันก็มักมาคลอเคลียอยู่ใกล้ ๆ ป้าแหวงจึงทำเป็นสงวนท่าทีในความรัก ทั้งที่ในใจกู่ร้องเพรียกหาทุกนาที ความสมหวังในความรักของป้าแหวงกับวิชา ญาติห่าง ๆ เกิดจากหัวใจรักของป้าแหวงเพียงอย่างเดียว ป้าแหวงยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อวิชา เพราะน้องชายของวิชาติดหนี้พนันบอลและถูกคุกคามจะเอาชีวิต วิชาไปเจรจากับเจ้าหนี้และเจ้าหนี้สัญญาจะล้างหนี้ให้ถ้านำยาเสพติดไปส่งลูกค้า วิชาจึงมาปรึกษาป้าแหวง ป้าแหวงตัดสินใจหอบหิ้วถุงยาขึ้นโรงพักแจ้งตำรวจโดยไม่ให้วิชารู้ และยอมร่วมมือกับตำรวจเสี่ยงชีวิตซ้อนแผนในวันส่งมอบยา จนตำรวจจับคนร้ายและสืบสาวถึงต้นตอได้ วิชาซาบซึ้งและตอบแทนป้าแหวงด้วยชีวิตเช่นกัน โดยยอมเสี่ยงวิ่งเข้าไปช่วยป้าแหวงซึ่งวิชาคิดว่าติดอยู่ในทาวน์เฮาส์ที่ถูกไฟไหม้ แต่ทั้งสองก็ปลอดภัย และวิชาได้ให้คำมั่นสัญญากับป้าแหวงว่าจะกลับมาหา...วิชาจะกลับมาอย่างที่พูดหรือเปล่า ป้าแหวงไม่รู้ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต แต่หัวใจรักของป้าแหวงสิ้นสุดการเดินทางที่ยืดเยื้อมายาวนาน และหยุดพักอย่างสุขสงบ ณ ตรงนี้แล้ว นับจากวันนี้สืบไป...(หน้า 193)
ส่วนมีนานักเรียนพาณิชย์ ที่หารายได้พิเศษด้วยการเป็นสาวพริตตี้ ครอบครัวของเธอไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินทอง แต่เธออยากมีรายได้เป็นของตนเอง มีนาเป็นวัยรุ่นที่ไม่ได้ตกเป็นทาสของสังคมบริโภคนิยม หรือใช้ตัวเข้าแลกเพื่อทรัพย์สินเงินทอง สิ่งที่เธอปรารถนาคือใครสักคนซึ่งไม่จำเป็นต้องร่ำรวยแต่รักเธอด้วยความจริงใจ เธอจึงพอใจสันทัด รปภ.บริษัทรับจัดงานแห่งหนึ่ง เขาไม่ร่ำรวย การศึกษาไม่สูง แต่สันทัดมีความจริงใจ ห่วงใย ไม่รู้สึกเบื่อหรือเหนื่อยและรู้สึกเต็มตื้นล้นใจทุกครั้งเมื่อได้ทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้มีนา มีนาจึงปฏิเสธโอกาสที่เจ้าของบริษัทยิบยื่นให้และเธอเลือกที่คบหาสันทัด รปภ.ของบริษัทแทน ความสัมพันธ์ของมีนาและสันทัดเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้บนพื้นฐานของความรัก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมั่งมีหรือทรัพย์สินเงินทองใด ๆ ทั้งสิ้น
นอกจากเรื่องราวของความรักหลากหลายรูปแบบ นวนิยายเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมโลก เช่นมิตรภาพระหว่างมิเชลกับลุงต่อ ความเมตตาของเจ๊ศรีและลุงต่อที่มีต่อมอมแมม หมาจรจัดที่มาอาศัยอยู่ในศาลเจ้า นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดีของ “มอมแมม” ที่มีต่อ “เสมอ” เจ้านายของมันที่ถูกรถน้ำมันพุ่งชนเสียชีวิต ทั้งหมดทั้งมวลล้วนสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ด้านบวกของมนุษย์และเพื่อนร่วมโลกแทบทั้งสิ้น
เรื่องราวของแปดชีวิตในซอกมุมเล็ก ๆ ของเมืองหลวงที่กว้างใหญ่ไพศาลนี้ ทุกชีวิตล้วนประสบปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่ปัญหาก็ไม่ได้ทำให้จิตใจของใครตกต่ำลง ในทางตรงกันข้ามกลับมีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ผู้เขียนจึงประสบความสำเร็จที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเต็มตื้นกับแง่มุมดี ๆ ของชีวิต เพราะโดยวิถีของคนเมืองที่ทุกชีวิตต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ยากนักที่จะเหลือช่องว่างของหัวใจไว้คอยประคับประคองจิตใจของผู้อื่น แต่ทั้งแปดชีวิตในซอยอยู่สบายกลับทำให้ผู้อ่านตระหนักว่า ความรัก ความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจที่หยิบยื่นให้ใครก็ตาม เป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่และเปรียบเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
******
ขวัญเรือน ปักษ์หลัง มิถุนายน 2551
วิจารณ์ "ไม่มีวันสตรีสากลในคาบูล"
ไม่มี “วันสตรีสากล”ในคาบูล
ชฎารัตน์ สุนทรธรรม
นวนิยายเรื่องถนนหนังสือสายคาบูล (The Bookseller of Kabul) ผลงานของ อัสนี เซียร์สตัด (Asne Seierstad) นักเขียนและคนข่าวสาวชาวนอร์เวย์ แปลเป็นไทยโดยนักแปลคุณภาพ จิระนันท์ พิตรปรีชา ถนนหนังสือสายคาบูลถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกครอบครัวสุลต่าน คาน ครอบครัวชนชั้นกลางชาวอัฟกัน ในยุคที่ตาลีบันพ่ายแพ้ต่อกองกำลังพันธมิตร และถอนกองกำลังออกจากคาบูล หลังเหตุการณ์ 9-11 (ค.ศ.2001) อัสนี เซียร์สตัดขอเข้าไปพำนักกับครอบครัวของสุลต่าน คาน เธอกล่าวว่า
“ฉันลงมือเขียนมันออกมาในรูแบบของนิยาย แต่ก็อิงตามเรื่องจริงที่เกิดขึ้น หรือได้รับการถ่ายทอดโดยบุคคลที่อยู่ในแต่ละเหตุการณ์ ตอนที่เป็นการบรรยายสภาพอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด ก็มาจากปากคำของบุคคลนั้น ๆ ผู้อ่านมักสงสัยว่าฉันไปล่วงรู้ความในใจของทุกคนได้อย่างไร คำตอบก็คือ ฉันไม่ใช่นักเขียนผู้รู้ไปหมด แต่ก็ได้รับฟังจากพวกเขาแต่ละคนว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตตน” (หน้า 12 – 13)
ในแง่มุมหนึ่ง นวนิยายเรื่องนี้ได้สะท้อนมิติทางด้านประวัติศาสตร์ของประเทศอัฟกานิสถานในช่วงระยะเวลาอันมืดมนให้ผู้อ่านได้รับรู้ บาดแผลและความบอบช้ำของชาวอัฟกันที่ต้องประสบพบเจอสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 เมื่อสหภาพโซเวียตบุกยึดอัฟกานิสถาน และพยายามปราบปรามอิสลามกลุ่มต่าง ๆ แต่ถูกต่อต้านโดยกลุ่มมูจาฮิดีน การสู้รบสืบเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี ต่อมาเมื่อสหภาพโซเวียตถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานในปี ค.ศ.1989 ประชาชนชาว อัฟกันเริ่มมีความหวังว่าสันติภาพจะบังเกิดขึ้นในดินแดนของพวกเขา แต่ความหวังทั้งมวลก็สูญสลายไป เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพวกมูจาฮิดีนกับรัฐบาลที่เป็นหุ่นเชิดให้สหภาพโซเวียต การสู้รบอันดุเดือดระหว่างฝ่าย ต่าง ๆ ในกลุ่มกองกำลังมูจาฮิดีนดำเนินอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 5 ปี จวบจนกระทั่งในปี ค.ศ.1996 เมื่อกองทัพตาลีบันบุกโจมตี ทำให้กลุ่มมูจาฮิดีนยกพลหลบหนีออกจากเมือง
ในยุคเงามืดของพวกตาลีบัน ศิลปวัฒนธรรมรวมทั้งศิลปวัตถุของชาวอัฟกันถูกทำลายอย่างย่อยยับ กล่าวกันว่ากองกำลังตาลีบันใช้เวลาเพียงครึ่งวันในการทำลายประวัติศาสตร์ของชาวอัฟกันที่สั่งสมมานานนับพันปี นอกจากนี้รัฐบาลตาลีบันยังมีนโยบายต่อต้านความทันสมัยในทุก ๆ ด้าน มีการออกกฎข้อบังคับเรื่องการแต่งกายของประชาชนว่าควรปกปิดมิดชิด และผู้หญิงควรถูกกักบริเวณในบ้านแยกออกจากสังคม ต่อมาเกิดเหตุการณ์สะท้านโลก 11 กันยายน ประเทศอัฟกานิสถานถูกสหรัฐถล่มด้วยระเบิดในฐานะเป็นแหล่งซ่อนตัวของผู้ก่อการร้าย พวกตาลีบันถูกฝ่ายพันธมิตรรุกไล่จนต้องถอนกำลังออกจากคาบูล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวอัฟกันและครอบครัวของสุลต่าน คาน เปิดเผยให้โลกรับรู้ในช่วง ค.ศ.2001 หลังจากรัฐบาลตาลีบันแตกพ่ายและถอนกองกำลังออกจากจากคาบูล
สุลต่าน คาน เป็นลูกชายคนโตของครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน พ่อแม่ของเขาเก็บหอมออมเงินเพื่อส่งเสียให้เขาได้เล่าเรียน เมื่อเติบโตขึ้นสุลต่าน คาน ประกอบอาชีพเป็นวิศวกรระยะหนึ่ง แต่ด้วยความหลงใหลในหนังสือ เขาหันหลังจากอาชีพวิศวกรไปเปิดกิจการร้านหนังสือตั้งแต่แต่อายุ 20 เขาสามารถนำธุรกิจร้านหนังสือฝ่ามรสุมสงครามกลางเมืองในคาบูลมาได้ตลอดรอดฝั่ง ขยายกิจการได้หลายสาขา โดยมอบหมายให้น้องชายและลูกชายดูแลกิจการที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไป
เมื่อครั้งที่พ่อของสุลต่าน คานเสียชีวิต สุลต่าน คานในฐานะลูกชายคนโต ได้สืบทอดอำนาจต่อจากพ่อ คำสั่งของเขาคือกฎหมายของบ้าน ใครไม่ปฏิบัติตามจะได้รับโทษ เขาไม่เพียงเป็นนายใหญ่ของบ้านนี้ หากยังพยายามแผ่อำนาจไปปกครองพี่ ๆ น้อง ๆ ที่แยกย้ายครอบครัวออกไปแล้วด้วย ดูเหมือนลัทธิปิตาธิปไตย (patriaechy) ที่หมายถึงอำนาจของบิดา ซึ่งต่อมาหมายรวมถึงระบบชายเป็นใหญ่ ได้เข้าครอบคลุมฝังรากลึกลงในครอบครัวของชาวอัฟกัน สุลต่าน คาน เคยขับไล่น้องชายที่ชื่อฟาริดออกจากบ้าน และบังคับไม่ให้ญาติพี่น้องคนอื่น ๆ ติดต่อกับฟาริดอีก เพียงเพราะเขาไม่ยอมไปช่วยงานร้านหนังสือของสุลต่าน แต่ไปเปิดร้านของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีกฎว่าพี่ชายคนโตต้องเป็นที่เคารพและเชื่อฟังของน้อง ๆ ในทุก ๆ ด้าน น้อง ๆ ของสุลต่านจะต้องถูกลงโทษหนักถ้าโต้เถียงกับพี่ชาย สุลต่านพยายามปกป้องการกระทำของตนเองโดยอ้างเหตุผลว่า “ถ้าครอบครัวไม่มีวินัยและไม่ขยันเอาการเอางาน ก็จะไม่มีทางฟื้นฟูประเทศอัฟกานิสถานให้เจริญรุ่งเรืองได้” (หน้า 125) ส่วนลูกชายของสุลต่าน คาน 3 คน ได้แก่ มานซูร์ อัคบาลและไอมาล ก็ไม่มีอิสรเสรีในชีวิตเพราะถูกพ่อบังคับให้ดูแลกิจการร้านหนังสือเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ลัทธิปิตาธิปไตยยังส่งผลครอบคลุมมาถึงการให้คุณค่าและความหมายแก่ผู้ชายเหนือผู้หญิง สถานะของผู้หญิงในระบบนี้ถูกจัดวางไว้เป็นกฎว่าผู้หญิงจะด้อยกว่าผู้ชายแง่ที่จะต้องพึ่งพา เชื่อฟังและสยบยอมต่อชาย ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะ แม่ เมีย ลูกสาวหรือน้องสาวก็ตาม
ในฐานะแม่ บีบีกุล แม่ของสุลต่าน ที่มีลูกถึง 13 คน แต่สถานภาพของบีบีกุลเมื่ออยู่ในบ้านก็เป็นเพียงผู้อาศัยพึ่งใบบุญของสุลต่านเท่านั้น และเพียงเพราะนางและลูกสาวคนเล็กไม่เชื่อฟังและมีความคิดเห็นขัดแย้งกับสุลต่าน ทั้งสองจึงถูกขับไล่ ต้องไปอาศัยอยู่กับฟารีด น้องของสุลต่านซึ่งถูกตัดขาดจากพี่ชายเช่นเดียวกัน สุลต่านก็ยังคงสร้างเกราะปกป้องตนเองโดยให้เหตุผลว่า “พี่น้องชาวอัฟกันไม่ค่อยรักกันเลย สมควรแล้วที่เราจะต้องแยกกันอยู่ ตอนที่อยู่กับผม พวกเขาน่าจะให้เกียรติผมบ้าง...หรือคุณว่าไง? ถ้าครอบครัวไร้ระเบียบวินัย เราจะสร้างสังคมที่เคารพกฎหมายและประเพณีได้อย่างไร? ...สังคมของเรากำลังวุ่นวายสับสน เพราะเพิ่งผ่านสงครามกลางเมืองมาหยก ๆ ถ้าไม่มีใครปกครองคนในครอบครัวตัวเองได้ ส่วนรวมก็จะล่มสลายไปทั้งหมด” (หน้า 278)
ในฐานะเมีย ชาริฟา ภรรยาคนแรกของสุลต่าน ก็ต้องหวานอมขมกลืน เมื่อสุลต่านมาแจ้งข่าวว่าเขาได้ไปสู่ขอซอนย่ามาเป็นภรรยาคนที่สอง ถึงแม้ทุกคนในครอบครัวจะไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะชาริฟาที่เสียใจอย่างที่สุด เพราะสุลต่านเลือกผู้หญิงที่ไม่มีการศึกษา ไม่เคยแม้กระทั่งเข้าโรงเรียนอนุบาล ในขณะที่ชาริฟาเป็นถึงครูสอนภาษาเปอร์เซีย แต่ชาริฟาก็ต้องฝืนใจทำหน้าชื่นเข้าร่วมงานหมั้นของสามี และเหมือนเช่นเคยไม่มีใครในครอบครัวกล้าขัดขวางความต้องการของสุลต่านได้
ในฐานะน้องสาวคนสุดท้อง ไลลา อายุ 19 ปี เป็นคนฉลาดเฉลียว เอางานเอาการ และเป็นผู้แบกภาระงานบ้านอันหนักอึ้ง เป็นผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดและเป็นปลายแถวท้ายสุดของลูกโซ่อำนาจในครอบครัว ถึงแม้ว่าไลลาจะเป็นผู้หญิงที่มีการศึกษา เธอจบชั้นมัธยมปลาย และมีความรู้ภาษาอังกฤษ แต่เมื่อเธอต้องการไปสมัครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ก็ยังคงต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไป เพราะ “แผนของเธอคือ ไปสมัครให้ได้ก่อนแล้วค่อยบอกสุลต่าน เพราะถ้าเขารู้เสียก่อนก็จะขัดขวาง แต่ถ้าเธอมีตำแหน่งงานรออยู่ เขาก็คงขัดไม่ได้ อีกอย่างเธอคงสอนแค่สามสี่ชั่วโมงในแต่ละวัน ถ้าเธอตื่นเช้าขึ้นและขยันขึ้นอีก ทุกอย่างก็จะลงตัว ไม่มีใครว่าได้” (หน้า 196) เมื่อเธออยู่ในบ้าน หน้าที่คือเข้าครัวเตรียมหุงหาอาหารทุกมื้อ “เธอถูกฝึกให้มีหน้าที่รับใช้ทุกคน ฟังคำสั่งของทุกคนในบ้าน และเป็นที่ระบายอารมณ์ของทุกคน เธอไม่เคยได้รับการดูแลหรือถนอมน้ำใจ เธอจะถูกกล่าวโทษ ถ้ามีอะไรขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นรอยด่างบนสเวตเตอร์ที่ซักไม่ออก หรืออาหารที่ไม่อร่อยถูกใจ เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วที่ทุกคนจะหันมาดุด่าว่ากล่าวไลลา เมื่อต้องการใครสักคนมารองรับอารมณ์บูดขอตน” (หน้า 182)
ทางด้านสังคมภายนอกผู้หญิงชาวอัฟกันถูกลิดรอนคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์โดยกฎของสังคม เช่น ในเรื่องการหย่าร้าง ถ้าผู้หญิงที่ผ่านการหย่าร้างจะถูกตราหน้าว่านำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล เป็นที่รังเกียจในสังคม และถ้าผู้หญิงกล้าลุกขึ้นมาหย่าสามี จะต้องสูญเสียสิทธิประโยชน์ทุกอย่างในชีวิต ฝ่ายชายจะได้ลูกไปและสามารถสั่งห้ามมิให้ฝ่ายหญิงไปเยี่ยมลูกโดยไม่ต้องพึ่งอำนาจศาล และทรัพย์สินทั้งหมดจะต้องตกเป็นของฝ่ายชาย ดังนั้นชาริฟา ภรรยาของสุลต่าน คาน จึงต้องทนหวานอมขมกลืนอยู่กับสุลต่าน ถึงแม้เธอจะเป็นแม่และเมียที่ดีก็ตาม เพราะถ้าเธอหย่าขาดจากสุลต่าน เธอจะไม่สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข คงต้องซมซานไปอาศัยอยู่บ้านพี่น้องที่เป็นผู้ชายคนใดคนหนึ่งในสภาพที่สูญสิ้นทุกอย่างที่เคยมีในชีวิต
มิพักจะต้องพูดถึงเรื่องหย่าร้าง ในสังคมอัฟกัน การโหยหาความรักเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับผู้หญิง คำสั่งห้ามของพวกมุลลอฮ์และประเพณีพื้นเมืองในเรื่องเกียรติและศักดิ์ศรี ทำให้คนหนุ่มสาวไม่มีสิทธิ์นัดพบใคร ไม่สามารถเลือกรักหรือรักใครอย่างอิสระ ใครที่ไม่รู้จักสำรวมตนอาจถูกฆ่าอย่างทารุณ และถ้าต้องตัดสินระหว่างชายกับหญิงว่าใครผิดสมควรจะถูกประหาร ผู้รับกรรมจะต้องเป็นฝ่ายหญิงในทุกกรณี เช่นในกรณีของซาลิคา หญิงสาวอายุ 16 ปี เพียงแค่เธอแอบไปคุยกันในสวนสาธารณะกับชายหนุ่ม เพื่อวาดฝันในเรื่องของอนาคตร่วมกัน เมื่อถูกจับได้เธอถูกคนในครอบครัวเฆี่ยนตีจนร่างกายบอบช้ำ และครอบครัวของเธอรู้สึกอับอายขายหน้าเพื่อนบ้านเพราะเป็นการละเมิดศีลธรรมขั้นร้ายแรง
หรือกรณีของญามิลา เพื่อบ้านของชาริฟา เธอมาจากครอบครัวผู้ดีมีเงิน และได้แต่งงานกับเจ้าบ่าวที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ เมื่อแต่งงานได้สองอาทิตย์ เจ้าบ่าวต้องกลับไปต่างประเทศเพื่อขอ วีซ่าให้กับญามิลา ระหว่างนั้นญามิลาพักอยู่ที่บ้านพี่ชายของเจ้าบ่าวซึ่งแต่งงานแล้ว เรื่องร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับญามิลา เกิดขึ้นเมื่อตำรวจมารายงานว่าเห็นผู้ชายคนหนึ่งปีนหน้าต่างเข้าห้องของเธอ และพี่สามีค้นพบข้าวของของชายผู้นั้นในห้องของญามิลา เธอจึงถูกไล่ออกจากบ้านกลับไปอยู่ที่บ้านเดิม สามวันต่อมา พี่ชายของเธอก็แจ้งว่าญามิลาเสียชีวิตแล้วเพราะไฟฟ้าชอร์ต แต่แท้จริงแล้วเป็นคำสั่งของแม่แท้ ๆ ของเธอที่ให้ลูกชายสามคนลงมือสังหารญามิลาลูกสาวของนางโดยใช้หมอนกดหน้า นับเป็นโศกนาฏกรรมในชีวิตของผู้หญิงชาวอัฟกันที่ไร้ทางต่อสู้
ในทางกายภาพ ผู้หญิงชาวอัฟกันเมื่อออกจากบ้านต้องคลุมผ้าบูร์กาให้มิดชิด และภายใต้ผ้าคลุมยังมีเสื้อผ้าอีกหลายชั้น ใต้กระโปรงมีกางเกงขายาว แม้ในยามอยู่บ้านก็ไม่ค่อยสวมเสื้อเปิดคอ ยิ่งในสมัยของตาลีบันเรืองอำนาจแม้แต่การทาเล็บเท้าซึ่งเป็นส่วนที่อยู่นอกเหนืออาณาเขตของชายผ้าบูร์กาก็ถือเป็นความผิดร้ายแรง ผู้หญิงที่ขัดคำสั่งจะถูกลงโทษโดยการตัดปลายนิ้วมือนิ้วเท้า นอกจากนี้สิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ เช่นการใช้บริการขนส่งมวลชน พวกผู้หญิงก็ไม่รับความเสมอภาค พวกเธอต้องขึ้นรถเมล์ทางประตูหลังแล้วนั่งบนที่นั่งหลังม่านแถวหลังของรถเมล์ ซึ่งมีที่นั่งไม่มากนัก
หลังยุคตาลีบันหมดอำนาจ ความเข้มงวดที่มีต่อผู้หญิงชาวอัฟกันเริ่มผ่อนคลาย ผู้หญิงชาว อัฟกันเริ่มมีพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น การเริ่มมีอิสรภาพทำให้ความรู้สึกของการที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่ข่มเหง ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้ มีการก่อตั้งองค์กรหรือหน่วยงานเกี่ยวกับสตรีหลายองค์กร องค์กรสตรีรายหนึ่งพยายามปลุกระดมให้มีการเดินขบวนเพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิสตรี แต่ทางการก็ส่งเจ้าหน้าที่มาสลายการชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่า ในระยะหลังผู้หญิงสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากขึ้น มีการผลิตนิตยสารสำหรับผู้หญิง ผู้หญิงหลายคนเริ่มเข้ามามีบทบาทในสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำได้เฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูงหรือผู้มีการศึกษาเท่านั้น แต่ในระดับรากหญ้าผู้ชายยังคงครองอำนาจในครอบครัวและผู้หญิงก็ยังคงไม่มีสิทธิ์มีเสียงอยู่เช่นเดิม
ในยุคที่ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีกำลังพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ประชากรส่วนใหญ่ในสังคมโลกกำลังเสพสุขอยู่กับเสรีภาพอันหอมหวาน นวนิยายเรื่องถนนหนังสือสายคาบูล ได้ตอกย้ำให้เห็นว่า คำว่าอิสรภาพ เสรีภาพและความเท่าเทียมกันในสังคมเป็นสิ่งที่ผู้คนในอีกสังคมหนึ่งโหยหามาชั่วชีวิต แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าทุกสิ่งที่ปรารถนาจะได้มาในวันใด และอาจสะกิดใจให้ผู้คนที่อยู่ในโลกเสรีได้ตระหนักถึงคุณค่าของคำว่าเสรีภาพที่ตนเองมีอยู่ได้มากขึ้น
วิจารณ์รวมเรื่องสั้น "บ้านของนักเขียนหญิง"
บ้าน...ของนักเขียนหญิง
ชฎารัตน์ สุนทรธรรม
นอกเหนือจากตัวอักษรขนาดใหญ่ที่เป็นชื่อหนังสือปรากฏบนพื้นปกสีเขียวสดแล้ว คำโปรยที่ปรากฏบนปกหลัง “รวม 17 เรื่องสั้นของนักเขียนหญิงร่วมสมัย” และรายชื่อของนักเขียนหญิงทั้ง 17 ท่าน ซึ่งเป็นนักเขียนสามรุ่นสามวัยที่ฝากฝีไม้ลายมือไว้ในหนังสือเล่มนี้เป็นที่สะดุดตาอันดับแรก
และก่อนที่จะเปิดอ่านเนื้อในของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ จุดเด่นที่สร้างความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือส่วนที่เป็น “คำนำเสนอ” โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขียนคำนำว่าด้วยเรื่องราวของนักเขียน นักแปลและนักหนังสือพิมพ์สตรีรุ่นบุกเบิกจนถึงช่วงต้นของปี พ.ศ. 2500 เนื้อหาอันเป็นสาระประโยชน์ในส่วนนี้ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพกว้าง ๆ ของนักเขียนสตรีไทยในยุคการเขียนร้อยแก้วแนวใหม่ ที่แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่นักเขียนสตรีเหล่านี้ก็สามารถรวมตัวกันเป็นชุมชนนักเขียนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 และยิ่งไปกว่านั้นยังมีหลักฐานปรากฏชัดว่า ประมาณปี พ.ศ.2470 มีหนังสือผู้หญิงที่ผู้หญิงจัดทำเป็นเล่มแรกคือ “สยามยุพดีรายสัปดาห์” ก่อกำเนิดก่อนหนังสือ “สุภาพบุรุษรายปักษ์” ที่จัดทำโดยกลุ่มสุภาพบุรุษถึง 2 ปี และถึงแม้ในระยะแรกนี้นักเขียนหญิงจะมีจำนวนน้อยกว่านักเขียนชาย แต่ถ้าพิจารณาตลาดหนังสือในปัจจุบันจะเห็นว่าจำนวนนักเขียนสตรีอาจมีเท่ากับหรือมีมากกว่านักเขียนบุรุษเสียด้วยซ้ำ
สืบเนื่องจากกระแสนักเขียนสตรีดังที่กล่าวมาข้างต้น “บ้าน ของนักเขียนหญิง” จึงเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่บรรณาธิการได้ส่ง “เทียบเชิญ” ไปยังนักเขียนสตรีร่วมสมัย 3 รุ่น ซึ่งนอกเหนือจากนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ คือ แข ณ วังน้อย แล้ว ยังมีนักเขียนซีไรต์ นักเขียน ช่อการะเกด และนักเขียนรุ่นใหม่อีก 16 ท่านโดยนักเขียนทั้งหมดนอกจากนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศได้รับโจทย์ให้เขียนเรื่องสั้นว่าด้วยเรื่อง “บ้าน”
“บ้าน” โดยตัวของมันเองไม่สามารถสื่อสะท้อนความรู้สึกใด ๆ ได้ สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในบ้านต่างหาก ที่ทำให้บ้านมีสีสันมีลีลาจังหวะชีวิตมีอารมณ์ความรู้สึก เมื่อผู้อ่านเดินดูบ้านแต่ละหลัง ของนักเขียนหญิงทั้ง 17 คน ก็จะเห็นบ้าน 17 แบบที่แตกต่างกัน และเมื่อได้เปิดประตูเข้าไปสำรวจภายในบ้าน ก็ยิ่งจะได้สัมผัสบรรยากาศอันหลากหลายของบ้านแต่ละหลังอีกด้วย
บ้าน...คือความทรงจำอันงดงาม
เรื่องสั้นของนักเขียนหญิงต่างรุ่นหลายวัยในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ถ่ายสะท้อนชีวิตของสมาชิกในบ้านที่มีผ่านพบประสบการณ์ทั้งสุขและทุกข์ร่วมกัน เมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่านไป ภาพเหล่านั้นก็ยังคงเป็นความสุขที่ฝังแน่นในความทรงจำ
เรื่อง “วิมานของเรา” ของ ชัญวลี ศรีสุโข บอกเล่าเรื่องราวในแต่ละช่วงชีวิตที่เติบโตอยู่ในบ้านหลาย ๆ หลังตลอดระยะเวลากว่าสี่สิบปี บ้านหลังแรกที่สร้างด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของพ่อและแม่เป็นบ้านที่บันทึกภาพความสุขในวัยเยาว์ บ้านเช่าหลังแรกเมื่อต้องมาอยู่กรุงเทพฯที่ฝากรอยแผลเป็นไว้ที่หน้าผาก บ้านในสลัมที่สร้างความสนุกสนานโดยการจับลูกน้ำไปขายให้คนเลี้ยงปลา โดยมองข้ามความน่ารังเกียจของน้ำเน่าเหม็นที่ขังอยู่บริเวณใต้ถุนบ้าน หรือเมื่อเติบโตสร้างครอบครัวของตัวเองก็ต้องมาอาศัยพักพิงบ้านพักข้าราชการในโรงพยาบาลเป็นเวลายาวนานถึง 17 ปี ทุกอนูของบ้านทุกหลังล้วนสร้างความหลังฝังใจเสมอมา และถึงแม้ว่าทุกคนปรารถนาที่จะมีบ้านที่เป็น “วิมานของเรา” โดยไม่ต้องไปอาศัยใครอยู่ก็ตาม แต่ชัญวลี ก็ตอบโจทย์เรื่องบ้านไว้ว่า บ้านในความทรงจำทุกหลังที่สร้างความสุขให้เกิดขึ้นในใจสำคัญกว่าบ้านที่หลายคนดิ้นรนขวนขวายหามาครอบครองเป็นไหน ๆ
เรื่อง “ลูกแก้วสีเทา” ของ อัญชัญ เป็นเรื่องราวในอดีตของหญิงสาวคนหนึ่ง กล่าวย้อนในวันที่เธอมีอายุครบหนึ่งรอบ เธอรู้สึกขัดอกขัดใจที่ในวันนั้นแทนที่พ่อจะให้รถจักรยานที่ร่ำร้องอยากได้เป็นของขวัญวันเกิดพ่อกลับให้เธอและน้องคัดเลือกลูกแก้วที่เห็นว่าดีที่สุดออกมาจากลูกแก้วจำนวนมากมายในขวดโหล แต่เธอก็เลือกสามารถเลือกลูกแก้วที่งดงามไร้รอยตำหนิได้ 3 ลูก ในขณะที่น้องคัดออกเพียงไม่กี่ลูก ในวัยเพียงเท่านั้นเธอไม่เข้าใจว่าพ่อกำลังสอนบทเรียนชีวิตให้ เมื่อกาลเวลาผ่านเลยไปจึงได้ตระหนักว่าการเลือกลูกแก้วในวันเกิดอายุ 12 ขวบนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดที่พ่อได้มอบให้ พ่อได้สอนให้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ การเลือกลูกแก้วที่ผ่านการคัดกรองเหลือลูกที่ดีที่สุดเปรียบได้กับการที่มนุษย์ชอบตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเองเพื่อใช้อ้างเป็นเหตุผลว่าสิ่งที่ตนทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องซึ่งในสายตาคนอื่นอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น หรือการที่เลือกลูกแก้วที่มีตำหนิทิ้งไปเหลือเพียงลูกที่เห็นว่าดีที่สุดเพียงไม่กี่ลูก เป็นเครื่องมือที่พ่อสอนให้รู้จักยอมรับผู้อื่น เป็นความจริงที่ว่าไม่มีมนุษย์คนใดสมบูรณ์แบบ ถ้าจะเลือกคบหาสมาคมกับคนที่สมบูรณ์แบบที่สุดคงหาเพื่อนได้ยาก แต่ถ้าเรายอมรับได้ว่าทุกคนมีทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่บกพร่องเราจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนหมู่มากได้อย่างมีความสุข และเมื่อเธอเติบโตขึ้น ในวันที่ต้องออกไปเผชิญโลกกว้างตามลำพัง วันใดที่รู้สึกทดท้อ บทเรียนที่ได้จากพ่อซึ่งเป็นความทรงจำที่งดงามในวัยเยาว์ก็ช่วยปรับใจทำให้ใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้ง่ายขึ้น
นอกจากเรื่องสั้นสองเรื่องนี้แล้ว เรื่อง “จดหมายถึงบ้านที่ไม่ได้กลับไปเยี่ยม” ของ นักเขียนหญิงที่ใช้นามปากกาว่า “กาลตรงกัน” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวในความทรงจำอันงดงามของช่วงหนึ่งในชีวิตที่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่ปัตตานี ถ้อยคำที่ร้อยเรียงถ่ายทอดผ่านรูปแบบของจดหมายที่ส่งไปถึง “ปัตตานี” สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกโหยหาความสุขและความอบอุ่นที่ครั้งหนึ่ง เธอเคยได้รับเมื่อได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เมืองปัตตานีในสายตาของคนภายนอก ดูเหมือนจะเป็นเมืองที่ไม่มีความปลอดภัย ผู้คนโหดร้าย แต่สำหรับเธอความรู้สึกที่มีต่อเมืองเล็ก ๆ เมืองนี้ต่างไปจากความรู้สึกของคนที่รู้จักเมืองนี้แต่เพียงผิวเผิน “ฉันหลงรักปัตตานีเมื่อแรกพบหรือเปล่า เป็นคำถามที่ทบทวนไปมา หลายคนที่ฉันพาไปรู้จัก ต่างก็บอกว่าฉันกล้าหาญที่ทนอยู่กับคุณได้ ฉันยิ้มกับคำบอกเหล่านั้น ไม่เคยมีใครรู้ว่า เราไม่ต้องกล้าหาญและอดทนใด ๆ เมื่ออยู่กับสิ่งที่เรารัก” เป็นคำบอกเล่าที่บ่งบอกความรู้สึกได้ชัดเจนที่สุด
เช่นเดียวกับเรื่อง “กลับบ้าน” ของ “ษวรรยา” ถ่ายทอดความทรงจำเกี่ยวกับบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้สีเขียวอ่อนชานเมืองหลวง ที่ชั้นล่างดัดแปลงเป็นร้านขายของชำ หน้าบ้านมีบ่อน้ำและต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ บ้านที่มีสี่คนพ่อแม่ลูก บ้านที่น้ำจะท่วมทุกปีในฤดูฝน และแล้งอย่างที่สุดเมื่อถึงฤดูร้อน บ้านที่เธอในวัยเยาว์ร่ำร้องอยากได้ปีกแห่งเสรีภาพเพื่อโบยบินออกมาหาอิสระและเสรี และเมื่อได้สิ่งที่ต้องการ เธอก็ได้ประจักษ์ว่าโลกภายนอกบ้านสีเขียวอ่อนหลังนี้ได้ฝากรอยแผลแห่งประสบการณ์ไว้ในใจมากมาย สามสิบปีผ่านไป ภาพชีวิตในอดีตภายในบ้านบ้านสีเขียวอ่อนครึ่งตึกครึ่งไม้หลังนั้นกลับเป็นบ้านที่เธอนึกถึงและโหยหาอยู่เสมอยามเมื่อต้องออกมาอยู่ต่างบ้านต่างเมืองและเมื่อต้องเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนที่ไม่มีใครรออยู่ ณ จุดหมายปลายทาง แต่เธอก็ยังเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า เมื่อใดก็ตามที่ได้กลับไปยังบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้สีเขียวอ่อนหลังนั้น ที่สุดของปลายทาง จะมีพ่อและแม่รอคอยอยู่เสมอ
ความทรงจำอันอบอุ่นใน “บ้าน” ไม่ได้เกิดจากความผูกพันของ “คน” ที่อยู่ภายในบ้านเพียงอย่างเดียว สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็อาจทำให้บ้านเป็น “บ้านในความทรงจำ” ได้เช่นเดียวกัน เรื่อง “เพื่อนชีวิต” ของ “กฤติศิลป์ ศักดิ์สิริ” เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นความผูกพันของหญิงสาววัยทำงานกับสุนัขพันธุ์อิงลิช ค็อกเกอร์ชื่อ อินดี้ ซึ่งเพื่อนให้มาทดแทนเจ้าน้ำตาล สุนัขที่ตายไปเพราะถูกวางยาเบื่อ เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัว เนื่องจากไม่มีพี่น้องพ่อแม่จึงอบรมเลี้ยงดูให้รู้จักดำเนินชีวิตอยู่ในโลกกว้างได้ด้วยตัวของตัวเอง เธอเป็นคนที่รักอิสระและมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง สามารถตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างเด็ดขาดและชัดเจนเมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อ เธอได้อินดี้มาเป็นสมาชิกใหม่ในบ้าน ความผูกพันถูกบ่มเพาะและงอกงามขึ้นอย่างรวดเร็ว อินดี้มีความเป็นตัวของตัวเองและรักอิสระเหมือนเจ้าของ ถึงแม้เธอจะไม่อยากยอมรับกับทฤษฏีที่ว่า เจ้าของมีนิสัยอย่างไร สุนัขก็จะมีนิสัยอย่างนั้น แต่พฤติกรรมทั้งหลายของอินดี้ก็สะท้อนความเป็นตัวตนที่เลียนแบบเจ้าของของมันได้อย่างชัดเจน
เรื่อง “เบื่อเพื่อนบ้าน” ของศรีดาวเรือง เมื่ออ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ของศรีดาวเรือง ก็ให้รู้สึกเหมือนนั่งฟังคนแก่ที่ใช้ชีวิตนั่ง ๆนอน ๆ อยู่ในบ้าน บอกเล่าเรื่องราวในอดีตรวมทั้งเรื่องราวที่พบเห็นผ่านบานหน้าต่างของห้องนอนให้ฟังอย่างเพลิดเพลิน ผู้อ่านจะได้รับรู้เรื่องราวความเป็นไปของ “เพื่อนบ้าน” และ “บ้านเพื่อน” ผ่านสายตาของหญิงชราคนนี้ เรื่องราวของเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเรื่องครอบครัวของ “ยัยตะวัน” ลูกสาวนายตำรวจ ซึ่งต่อมาถูกจับเพราะโดนข้อหาค้าของเถื่อน และเธอหายออกจากบ้านไปในเวลาต่อมา และเมื่อเวลาผ่านไปสองสามวัน บ้านหลังนี้ก็มี “นางสาวตะวัน” ซึ่งหน้าตาไม่เหมือนเดิมเข้ามาอยู่อาศัยซึ่งสร้างความแปลกใจให้หญิงชรา จนเธอไม่อยากมองไปยังเพื่อนบ้านหลังอื่น ๆ เพราะกลัวจะเจอ “ตะวัน"”ซ้ำ ๆ อีก เรื่องราวที่ถ่ายทอดจากหญิงชราทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงอารมณ์โดดเดี่ยวและการใช้เวลาเปล่าว่างของแต่ละวันให้หมดไปโดยการสังเกตความเป็นไปของเพื่อนบ้านเพื่อคลายความเหงา และอาจเป็นไปได้ว่าเพื่อนบ้านที่เข้ามาอยู่ในบ้านหลังนั้นอาจจะเป็นคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ ตะวัน คนเดิม แต่เนื่องจากโลกของหญิงชรามีอยู่เพียงในห้องแคบ ๆ เธออาจจะไม่รู้จักใครอื่นนอกเหนือจากคนที่เคยพบเห็นเท่านั้น
เรื่องสั้นอีกสองเรื่อง ได้แก่เรื่อง “บทเพลงแห่งรัตติกาล” ของ วิวรณ์ และเรื่อง “เสียงทอดยาวอันโหยหวนของไวโอลิน” ของ มาญา มายาลัย อาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องราวของบ้านในความทรงจำเหมือนเรื่องอื่น ๆ แต่เป็นอีกบางแง่มุมที่ผู้เขียนต้องการสื่อถึงความงดงาม ความอบอุ่น ของบ้านที่อบอวลไปด้วยเสียงดนตรีซึ่งมีอิทธิพลต่อทุกชีวิตที่อยู่ในบ้าน และสะท้อนให้เห็นว่าเวลาและเสียงดนตรีสามารถเยียวยาความปวดร้าวที่เกิดขึ้นให้บรรเทาเบาบางลงไปได้
บ้าน...ของวันพรุ่งนี้
บ้าน...นอกจากจะเป็นความทรงจำอันงดงามของสมาชิกภายในบ้านแล้ว บ้านของนักเขียนหญิงหลายหลัง ได้เสนออีกมุมมองหนึ่งของ “บ้าน” ที่หลายคนดิ้นรนขวนขวายไขว่ขว้ามาครอบครอง เพราะบ้านอาจหมายรวมถึงความมั่นคง ความอบอุ่น หรืออาจแสดงให้เห็นว่าเป็นคนที่มี “ราก”
เรื่อง “ความฝันอยู่ที่นี่ ความฝันมีแค่นี้” ของ “สุจินดา ขันตยาลงกต” สะท้อนให้เห็นว่าการใช้ชีวิตร่วมกับชาวต่างชาติในดินแดนที่ห่างไกล อยู่ในบ้านที่ไม่ใช่บ้านของตัวเอง การมีอาณาจักรเล็ก ๆ แค่ห้องในคอนโดมิเนียมที่เมืองไทย ทำให้เกิดความปิติที่ยิ่งใหญ่เมื่อได้ตระหนักว่าอย่างน้อยตนเองก็มี “ราก”
เช่นเดียวกับเรื่อง “บ้าน” ของ “กว่าชื่น บางคมบาง” การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมือง อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ตารางงานที่แน่นเอียดในแต่ละวันก่อให้เกิดความเหนื่อยล้า ชีวิตท่ามกลางคนหมู่มาก ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สามารถเติมเต็มความรู้สึกบางอย่างที่ขาดหายไปได้ แต่ภาพถ่ายของบ้านที่เก็บได้หน้าปากซอยอพาร์ทเม้นท์กลับก่อให้เกิดความรู้สึกคุ้นเคย อบอุ่นและเป็นสุขอย่างประหลาด หลายครั้ง “ภาพของบ้าน” สามารถทำให้จิตใจเยือกเย็น ผ่านพ้นความขมึงเกลียวของเหตุการณ์เฉพาะหน้าไปได้ เรื่องสั้นเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่บอบบางของคนที่อยู่ในสังคมเมือง สิ่งที่ผู้คนโหยหาคือความอบอุ่น ความมั่นคงของ “บ้าน” ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านที่ใหญ่โตโอ่โถงมากมายนัก ขอเป็นเพียงบ้านเล็ก ๆ ที่เป็นของตัวเองเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
ในขณะที่หลายคนมี “บ้าน” เป็นที่พักพิงอันอบอุ่น แต่ก็ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ “บ้าน” ยังคงเป็นเพียงแค่ความฝัน เรื่อง “บ้านสุดขอบฝัน” ของ วรรณะ กวี เป็นเรื่องสั้นที่ปลูกฝังจิตสำนึกให้ตระหนักถึงคนยากไร้ในสังคมที่ไม่มีที่พักอาศัย สะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะสร้างความฝันของผู้ยากไร้ให้เป็นความจริง แม้จะเป็นเรื่องยากแสนยากและมีอุปสรรคนานัปการ แต่ผู้เขียนก็ได้ฝากความหวังไว้ว่า ถ้ามีคนที่ทุ่มเท มุ่งมั่นและจริงจังที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้ “บ้าน” ก็คงจะไม่เป็นเพียง “บ้านสุดขอบฝัน” อีกต่อไป
เรื่อง “ถุงเท้าสีแดง” ของ สร้อยแก้ว คำมาลา สะท้อนให้เห็นว่า การที่พ่อแม่ดิ้นรนทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้มี “บ้าน” เป็นของตนเอง บางครั้งอาจทำให้พลาดโอกาสร่วมประสบการณ์สำคัญ ๆ ในชีวิตของลูก ซึ่งสิ่งนี้ ถึงแม้จะมีเงินมากมายเพียงใด ก็ไม่สามารถซื้อวันเวลาให้ย้อนกลับคืนมาได้
เรื่อง “ม้าหมุน” ของ บุษดี งามภักดีพาณิช เป็นเรื่องสั้นที่เล่าเรื่องผ่านมุมมองของเด็ก ที่พยายามอธิบายให้ผู้ใหญ่เข้าใจในทฤษฎีและสัจจะแห่งศาสตร์ของม้าหมุนที่ว่า เมื่อเล่นม้าหมุนให้มันหมุนเร็ว ๆ เมื่อลงมาจากม้าหมุนแล้วจะต้องหมุนกลับจึงจะไม่งงหัว ด้วยความคิดเช่นนี้เขาจึงนำทฤษฎีนี้มาใช้กับกิจวัตรประจำวันของเขาคือการไปโรงเรียน เด็กน้อยคนนี้คิดว่าถ้าไปโรงเรียนแต่เช้าต้องกลับบ้านเย็นกว่าปกติ โดยแวะไปเล่นม้าหมุนเสียก่อน เมื่อกลับบ้านผิดเวลาจึงถูกแม่ลงโทษ และในทางกลับกันเมื่อเขาต้องการกลับบ้านเร็วขึ้นเขาจึงต้องมาโรงเรียนสาย จึงต้องแวะไปเล่นม้าหมุนเพื่อเป็นการฆ่าเวลา เมื่อมาถึงโรงเรียนก็ถูกครูตีอีกเช่นกัน ทั้ง ๆ ที่เขาพยายามอธิบายทฤษฎีม้าหมุนให้แม่และครูฟัง ก็ไม่มีใครยอมเข้าใจ เรื่องสั้นเรื่องนี้เมื่ออ่านแล้วก็อดอมยิ้มและเอ็นดูในความคิดของเด็กเสียไม่ได้ และในอีกด้านหนึ่งผู้เขียนอาจต้องการแสดงตัวเป็นกระบอกเสียงแทนเด็ก เพื่อให้ผู้ใหญ่หันมารับฟังและยอมรับความคิดของเด็กให้มากขึ้น
เรื่อง “พ่อเลี้ยง” ของ “อรุณวดี อรุณมาศ” เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิตภายในบ้านที่ไม่สมบูรณ์แบบนัก อันเนื่องมาจากพ่อที่แท้จริงเสียชีวิต และแม่มีเหตุผลที่ต้องแต่งงานใหม่ แต่พ่อเลี้ยง ก็ได้เข้ามาเติมเต็มชีวิตที่ขาดพ่อ และถึงแม้พ่อเลี้ยงจะทำให้ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง แต่ผู้เขียนก็ได้สะกิดให้ผู้อ่านตระหนักว่า น้อยครอบครัวนักที่จะโชคดีเหมือนครอบครัวนี้ เพราะโดยแท้จริงแล้ว การหย่าร้างไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตของคนเพียงสองคนเท่านั้น แต่ผลกระทบทางด้านจิตใจอาจตกมาอยู่กับลูกซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของพ่อแม่เลยก็เป็นได้
เรื่องสั้นที่อ่านแล้วรู้สึกบาดลึกอารมณ์ถึงที่สุด น่าจะได้แก่เรื่อง “คืนก่อกำเนิด” ของ พิณประภา ขันธวุธ เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนภาวะอารมณ์ขมขื่นของวัยรุ่นที่เกิดมาในบ้านที่ไม่อบอุ่นและต้องรับรู้ว่าตนเองเกิดมาด้วยความไม่ตั้งใจของผู้ให้กำเนิด ประสบการณ์อันเลวร้ายก่อให้เกิดภาวะกดดันทำให้ต้องระเบิดอารมณ์ด้วยการทำร้ายตนเองจนเกิดบาดแผลทั่วร่าง และทำร้ายสัตว์เลี้ยงจนถึงแก่ชีวิต จนกระทั่งต้องการจะทำร้ายผู้ให้กำเนิดเพราะคิดว่าพ่อแม่ต้องการทำร้ายตน ถึงแม้จิตใต้สำนึกส่วนดีจะพยายามฉุดรั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ การเป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอดทำให้เส้นใยอันบอบบางที่ล่ามร้อยความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกขาดผึงลงได้อย่างง่ายดาย เรื่องจึงจบลงแบบโศกนาฏกรรมในครอบครัวที่พบเห็นได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง
เรื่องราวของ “บ้าน” ที่ถ่ายทอดจากมุมมองของนักเขียนหญิง พิสูจน์ให้เห็นศักยภาพด้านการสร้างสรรค์และความสามารถทางด้านวรรณศิลป์ของนักเขียนแต่ละคน สมตามเจตนารมณ์ของสำนักพิมพ์ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการพิสูจน์อักษรในบางตอนยังขาดความระมัดระวัง นอกจากนี้การเว้นวรรคตอนในเรื่องสั้นบางเรื่องเช่น เรื่อง “เบื่อเพื่อนบ้าน” ในตอนที่กล่าวถึงนักร้องนักแสดงทั้งไทยและเทศในอดีตที่เขียนติดต่อยาวเหยียด ถ้าผู้อ่านไม่ใช่คนร่วมสมัยกับผู้เขียน อาจจะไม่รู้เลยว่าเป็นใครกันบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงข้อด้อยเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับหลากหลายอารมณ์ที่ผู้อ่านได้รับเมื่ออ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จบลง
วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553
ญี่ปุ่น...อีกแล้ว
ญี่ปุ่น....อีกแล้ว
ชฎารัตน์ สุนทรธรรม
“ญี่ปุ่น...อีกแล้วเหรอะ”
“บ้านที่สองอยู่ที่นั่นหรือไง...พี่”
“จัดทัวร์...พาพวกเราไปเที่ยวบ้าง”
เสียงทักเซ็งแซ่ เมื่อแจ้งว่าขอลาไปญี่ปุ่นอีกรอบ เมื่อวันสุดท้ายของภาคเรียนที่สองเสร็จสิ้นลง จำได้ว่าเป็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ต้นปีนี้เอง เรื่องของเรื่องที่ต้องเป็นวันนี้เพราะจะต้องเดินทางตอน เที่ยงคืนกว่า ๆ ของวันที่ 27 ต่อเช้า 28 เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายของราคาตั๋วโปรโมชั่น (หมายถึงตั๋วราคาถูกที่สุดในรอบปี) รุ่งขึ้นอีกวันเดียว จะต้องควักกระเป๋าเพิ่มอีกเกือบหกพันบาท คิดว่าประหยัดได้ก็ควรประหยัดเป็นอย่างยิ่ง เพราะมนุษย์เงินเดือนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว พึงสำนึกเสมอว่า “เงินทุกบาทที่เก็บไว้ในวันนี้ อาจเป็นทุนเพื่อใช้(ท่องเที่ยว)ในวันหน้า”
จะว่าไปแล้วในรอบสี่ปีที่ผ่านมา ฉันเดินทางไปญี่ปุ่น 5 ครั้ง สี่ในห้าครั้งมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองเดียวในดวงใจคือ “ฟูกูโอกะ” เมืองใหญ่ที่สุดบนเกาะคิวชู เกาะใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น และไม่อยากจะคุย (แต่ขอคุยหน่อยเถอะ) ว่าการเดินทางทุกครั้งไม่เคยต้องพึ่งพาบริการของบริษัททัวร์ใด ๆ เลย จึงอยากให้กำลังใจผู้ที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง และภาษาญี่ปุ่นก็ไม่กระดิกหู (อย่างฉันเอง) ว่าทุกคนสามารถท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่มีข้อแม้เพียงอย่างเดียวคือ ต้องเตรียมการให้พร้อมทำการบ้านหาข้อมูลให้ “แน่น”
การไปเยี่ยมเยือนฟูกูโอกะที่เปรียบเสมือนเพื่อนเก่าในครั้งนี้ มีผู้ร่วมเดินทางทั้งหมดสามชีวิต นอกจากฉันแล้ว อีกสองท่านล้วนเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิ(และวัยวุฒิ) ท่านแรก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร หรืออาจารย์โก้ อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬา ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เคยไปสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยโอซาก้าประมาณ 5 ปี และศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ หรืออาจารย์ปี๋ เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าไปแล้วนี่เป็นครั้งแรกที่ฉันมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศกับอาจารย์โก้ แต่กับอาจารย์ปี๋ เราเคยหัวหกก้นขวิดไปทั้งนอกและในประเทศหลายต่อหลายทริป
สำหรับการไปเมืองซามูไรเที่ยวนี้ เนื่องจากผู้ร่วมเดินทางเป็นนักวิชาการ จึงต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและรัดกุม มีการมอบหมายตำแหน่งหน้าที่ (แต่ไม่มีการแบ่งงานกันทำ) ฉันได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าทัวร์ ทำทุกอย่างที่หัวหน้าทัวร์พึงกระทำ เช่นวางแผนการเดินทาง หาตั๋วเครื่องบินที่ราคาถูกที่สุด หาตั๋วรถไฟ JR ศึกษาตารางรถไฟให้ได้เวลาที่เหมาะเหม็ง จองที่พักทุกเมือง (ถ้าที่พักถูกใจ ก็จะได้รับคำสรรเสริญเยินยอ แต่ถ้าไม่ต้องอัธยาศัยก็ถูกกระหน่ำซ้ำเติม)ฯลฯ อาจารย์โก้ ได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา มีหน้าที่ตอบเมลรับทราบทุกอย่างที่ฉันแจ้งให้ทราบ ส่วนอาจารย์ปี๋รีบบอกว่าคงไม่มีตำแหน่งอะไรว่างอีกแล้ว จึงขอจองเป็นลูกทัวร์(ที่ดี) ตลอดการเดินทาง
โชคดีที่การเดินทางครั้งนี้เป็นครั้งที่ห้า หัวหน้าทัวร์อย่างฉันจึงมีข้อมูลเป็นต้นทุนไว้บ้าง แต่ก็ยังคงต้องหาหนังสือมาอ่านเท่าที่หาได้ จากการสำรวจตลาดหนังสือและห้องสมุด ทำให้ฉันรู้ว่าหนังสือท่องเที่ยวเกาะใต้ของญี่ปุ่นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหนังสือท่องเที่ยวโตเกียว เกียวโต โอซาก้า
ฮอกไกโด เมืองเล็กๆที่สวยงามบนเกาะคิวชู เช่นยูฟูอิน (Yufuin) หรือ ทาคาชิโฮะ (Takachiho) หาข้อมูลจากเอกสารได้น้อยเต็มที ทำให้ฉันต้องขอบคุณความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคข้อมูลข่าวสารท่วมท้น เพียงลัดนิ้วมือ แค่พิมพ์และกดปุ่มบนคอมพิวเตอร์ ข้อมูลก็ทะลักมากองตรงหน้า เลือกเสพได้ตามอัธยาศัย
ฉันกำหนดไว้ว่าจะใช้เวลาท่องเที่ยว 9 วัน 4 เมือง จากเหนือลงใต้ เริ่มต้นที่ฮากะตะ (Hakata) ยูฟูอิน (Yufuin) เบปปุ (Beppu) ทาคาชิโฮะ (Takachiho) และสิ้นสุดการเดินทางที่ฮากะตะ
สายการบินแห่งชาติพาเราสามคนออกจากสนามบินสุวรรณภูมิประมาณเที่ยงคืนสี่สิบนาที ถึงสนามบินนานาชาติฟูกูโอกะแปดโมงเช้าไม่มีดีเลย์ เราผ่านด่านศุลกากรมาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก จากนั้นเพื่อเป็นการประหยัด เราจึงไม่นั่งแท็กซี่ แต่ใช้บริการรถโดยสารฟรี (Shutter Bus) จากอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ มายังอาคารผู้โดยสารในประเทศ เพื่อนั่งรถไฟใต้ดินต่ออีกเพียง 2 ป้าย (ราคา 230 เยน อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 36 บาท ต่อ 100 เยน) ก็ถึงสถานีฮากะตะ แรก ๆ ฉันเกิดความสับสนระหว่าง ฟูกูโอกะ กับฮากะตะ ว่าเป็นชื่อเมืองเดียวกันหรือไร และก็ได้คำตอบว่า เดิมฟูกูโอกะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน มีแม่น้ำนาคะกาวา (Nakagawa) คั่นกลาง ฟากหนึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาท อันเป็นที่อยู่ของเจ้าเมือง อีกฟากหนึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพ่อค้าและประชาชน เรียกว่า “ฮากะตะ” ต่อมามีการรวมเมืองทั้งสองฟากเข้าด้วยกัน รวมเรียกว่า “ฟูกูโอกะ” ส่วน “ฮากะตะ” ในปัจจุบัน ใช้เป็นชื่อเรียกเขตกลางเมืองฟูกูโอกะ และมีสถานีรถไฟฮากะตะ (Hakata Station) เป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเราใช้เป็นจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายของการเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ บนเกาะคิวชู
โรงแรมที่จะจองไว้วันแรกชื่อ Hakata Green Hotel (อาคาร 2) เป็นโรงแรมที่ใช้เวลาเดินจากสถานีรถไฟฮากะตะเพียง 5 นาที ลากกระเป๋าไม่ทันเมื่อยก็ถึงแล้ว จึงอยากให้ข้อเสนอแนะเล็กๆน้อยๆสำหรับผู้รักการท่องเที่ยวโดยไม่พึ่งบริษัททัวร์ว่า ควรหาโรงแรมที่ใกล้สถานีรถไฟที่สุด เพื่อสะดวกในการเดินทาง การหาข้อมูลโรงแรมทำได้ไม่ยาก ฉันใช้บริการเว็บไซต์ www.japanhotel.net ในเว็บไซต์นี้จะมีชื่อและรูปถ่ายของโรงแรมตามเมืองต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวเลือกตามความพอใจ ในเว็บฯจะแจงรายละเอียดต่างๆ เช่น สนนราคาค่าห้องพัก สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในโรงแรม รวมทั้งแผนที่และระยะเวลาโดยประมาณจากสถานีรถไฟในแต่ละเมือง เมื่อเลือกโรงแรมที่พึงพอใจได้แล้ว ก็กรอกรายละเอียดเพื่อจองห้องพักได้เลย และวันรุ่งขึ้นก็จะได้รับอีเมลยืนยันการจอง สำหรับการจ่ายเงินค่าโรงแรม บางโรงแรมรับทั้งเงินสดและเครดิตการ์ด บางโรงแรมโดยเฉพาะเรียวกังในเมืองเล็ก ๆ จะรับเฉพาะเงินสดเท่านั้น และการจ่ายเงินจะกระทำกันต่อเมื่อถึงโรงแรมนั้น ๆเป็นที่เรียบร้อย
โรงแรมต่างๆในประเทศญี่ปุ่นจะเช็คอินเข้าห้องพักไม่ได้จนกว่าจะบ่ายสามโมง เราจึงจัดแจงฝากกระเป๋า ล้างหน้าล้างตา และเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวกันทันที แต่ก่อนอื่นเราต้องเอาตั๋ว JR Rail Pass ที่ซื้อจากเมืองไทยไปแลกที่สถานีรถไฟฮากะตะ ตั๋ว JR จะซื้อได้เฉพาะนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น และต้องซื้อนอกประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ราคาจะถูกกว่าซื้อตั๋วรถไฟที่ญี่ปุ่น ฉันกับอาจารย์ปี๋ซื้อตั๋ว JR Kyushu 5 วัน ราคา 16,000 เยน ส่วนอาจารย์โก้ซื้อ JR Rail Pass ระยะเวลา 7 วัน แบบเดินทางได้ทั่วประเทศเพื่อต่อไปโอซาก้า ราคาจึงแพงกว่า ขั้นตอนการแลกตั๋วก็ไม่ยากเย็นอะไร เพียงแค่กรอกเอกสารเพียงเล็กน้อย ก็จะได้แผ่นพับเป็นกระดาษแข็งสามตอนสีน้ำเงิน หน้าแรกจะพิมพ์วันที่เริ่มใช้และวันที่ตั๋วรถไฟจะหมดอายุ ชื่อนามสกุล และหมายเลขพาสปอร์ต เมื่อจะเดินทางก็ยื่นให้เจ้าหน้าที่ที่ยืนอยู่ในช่องทางพิเศษ เพราะเราจะเข้าช่องทางที่ปกติที่ผู้โดยสารเอาตั๋วเสียบไม่ได้ เว็บไซต์ที่ติดต่อซื้อตั๋วรถไฟของฉันเป็นของบริษัท JTB (Thailand) www.jtbgmt.com/sunrise สำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อโอนเงินเรียบร้อย ก็จะได้รับตั๋วในวันรุ่งขึ้นทางไปรษณีย์ EMS
เอาล่ะ กายพร้อม ใจพร้อม เราควรต้องเริ่มออกเดินทางกันเสียที เมืองแรกที่เป็นเป้าหมายคือเมืองดาไซฟุ (Dazaifu) อยู่ไม่ไกลฮากะตะเท่าไหร่ เดินทางด้วยรถไฟใช้เวลาประมาณ 30 นาที ค่ารถไฟ 390 เยน เรายังเลือกไม่ใช้ตั๋วรถไฟ JR ที่ซื้อจากเมืองไทยในวันนี้ เพราะเป็นการเดินทางระยะสั้น ดาไซฟุเป็นเมืองที่พลาดไม่ได้สำหรับนักเรียนนักศึกษา เพราะมีศาลเจ้าชื่อเดียวกับเมืองคือ ศาลเจ้าดาไซฟุ (Dazaifu Tenmuangu Shrine) ศาลเจ้านี้มีตำนาน ว่ากันว่าเป็นศาลเจ้าที่สร้างเป็นอนุสรณ์แก่ มิชิซาเนะ ซึงะวาระ (Michizane Sugawara) ซึ่งเป็นปราชญ์และกวีเอกของญี่ปุ่นที่ถูกเนรเทศมาจากเกียวโตโดยไม่มีความผิดและเสียชีวิตลงที่นี่ ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งการศึกษา ดังนั้นภาพที่เห็นเมื่อไปถึง นอกจากจะมีนักเดินทางที่มากันคลาคล่ำแล้วยังมีนักเรียนนักศึกษากลุ่มใหญ่ มีแม้กระทั่งพ่อแม่จูงเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ สวมชุดกิโมโนสวยงามมาไหว้ขอพรให้เติบโตเป็นเด็กฉลาดและมีสติปัญญาเป็นเลิศ
ช่วงเวลาที่เราเดินทางมาถึงที่นี่ ศาลเจ้าดาไซฟุจะสวยงามเป็นพิเศษ เพราะเป็นฤดูที่ต้นพลัมนับสิบนับร้อยต้น แข่งกันออกดอกชูช่องดงาม ดอกพลัมหรือดอกบ๊วยไล่สีสวยสดจากชมพูเข้มถึงชมพูอ่อน มีเกสรสีขาวแต่งแต้มด้วยจุดสีเหลืองในส่วนปลาย พร้อมใจกันบานเต็มทุกกิ่งก้าน ความงดงามบางส่วนสามารถบันทึกไว้ด้วยกล้องของเราทั้งสามคน และฉันเชื่อว่าทุกภาพที่มองเห็นได้ถูกบันทึกไว้ในใจนับแต่วินาทีนั้นเรียบร้อยแล้ว
เสน่ห์ของเมืองดาไซฟุ นอกจากศาลเจ้าและดอกไม้แล้ว ระหว่างถนนเล็กๆ สู่ศาลเจ้า จะรายล้อมไปด้วยร้านขายของสารพัน แต่ละร้านตกแต่งน่าเอ็นดู ที่อาจารย์ปี๋ติดใจคือ หน้าทางเข้าร้านหรือบางทีภายในร้านจะประดับด้วยมุมสวนเล็ก ๆ จัดอย่างมีรสนิยม และแต่ละร้านจะมีสินค้าให้เลือกมากมาย ของบางอย่างเสพได้เฉพาะทางสายตา เพราะราคาสูงเหลือใจ แต่บางอย่างถ้ากำลังทรัพย์เพียงพอ ก็ซื้อติดไม้ติดมือกลับมาให้รำลึกถึงได้
ญี่ปุ่นเป็นต้นกำเนิดขนมโมจิหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ที่เมืองดาไซฟุ ท่ามกลางร้านรวงสองข้างทาง ยังสลับด้วยร้านขายโมจิหลายต่อหลายร้าน ทำกันสดๆให้เห็นกันจะจะ ขนมโมจิของเมืองนี้ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว สอดไส้ด้วยถั่วแดง เรียกว่า “อุเมะงะเอะ โมจิ” (Umegae-Mochi) แต่ดั้งเดิมจริงๆ จะเป็นไส้ลูกพลัม ที่พิเศษคือมีร้านหนึ่งพอเห็นเราสามคนเดินผ่านก็พูดทักทาย “สวัสดี” เป็นภาษาไทยซะด้วย มีหรือที่เราจะไม่เข้าไปอุดหนุน ซื้อคนละชิ้น กินอุ่น ๆ อร่อยใช้ได้เลยเชียว
กว่าสี่ชั่วโมงที่ดาไซฟุผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน ก่อนขึ้นรถไฟกลับ ฉันกับอาจารย์ปี๋ขอเวลาเดินไปวัดโคมิโอเซ็นจิ (Komyozenji Temple) อาจารย์โก้เมื่อยขาเต็มทีจึงนั่งรอเราหน้าวัด ภายในวัดตกแต่งด้วยสวนหินแบบเซ็น ร่มรื่นด้วยต้นเมเปิ้ล ที่พื้นดินบางส่วนมีหญ้ามอสปกคลุมเขียวขจีคล้ายพรมสีเขียวผืนใหญ่ปูลาดทับ แต่เมื่อครั้งที่ผ่านมา อีกฤดูกาลหนึ่ง ประมาณเดือนต้นเดือนธันวาคม ฉันกับอาจารย์ปี๋ได้เห็นอีกสีสันของวัดแห่งนี้ ใบเมเปิ้ลสีแดงร่วงหล่นเต็มลาน สวยสดงดงามไปอีกอารมณ์หนึ่ง
ก่อนที่จะเดินไปสถานีรถไฟ เราเหลียวกลับมาดูถนนสายเล็ก ๆ มีฉากหลังเป็นภูเขา มีสองข้างทางเรียงรายไปด้วยร้านรวงอีกครั้ง ใครคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า ประเทศญี่ปุ่นมีถึงสี่ฤดูกาล แล้วเราจะไม่กลับมาเพื่อชื่นชมดาไซฟุในฤดูกาลอื่น ๆ อีกหรือ เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบดัง ๆ แต่เมื่อหันมามองหน้ากัน เราต่างรู้คำตอบในใจเรียบร้อยแล้ว
พรุ่งนี้...การผจญภัยที่แท้จริงกำลังจะเริ่มต้น เราจะอำลาฮากะตะเพียงชั่วคราว จุดหมายของเราคือ ยูฟูอิน เมืองเล็ก ๆ ในหุบเขา เมืองพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยงานศิลปะ เมืองที่ถ้าใครมีโอกาสได้มาเห็นด้วยตาและสัมผัสด้วยใจแล้ว ยากนักที่จะตัดใจไม่หวนกลับมาอีกครั้ง
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)