ญี่ปุ่น....อีกแล้ว
ชฎารัตน์ สุนทรธรรม
“ญี่ปุ่น...อีกแล้วเหรอะ”
“บ้านที่สองอยู่ที่นั่นหรือไง...พี่”
“จัดทัวร์...พาพวกเราไปเที่ยวบ้าง”
เสียงทักเซ็งแซ่ เมื่อแจ้งว่าขอลาไปญี่ปุ่นอีกรอบ เมื่อวันสุดท้ายของภาคเรียนที่สองเสร็จสิ้นลง จำได้ว่าเป็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ต้นปีนี้เอง เรื่องของเรื่องที่ต้องเป็นวันนี้เพราะจะต้องเดินทางตอน เที่ยงคืนกว่า ๆ ของวันที่ 27 ต่อเช้า 28 เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายของราคาตั๋วโปรโมชั่น (หมายถึงตั๋วราคาถูกที่สุดในรอบปี) รุ่งขึ้นอีกวันเดียว จะต้องควักกระเป๋าเพิ่มอีกเกือบหกพันบาท คิดว่าประหยัดได้ก็ควรประหยัดเป็นอย่างยิ่ง เพราะมนุษย์เงินเดือนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว พึงสำนึกเสมอว่า “เงินทุกบาทที่เก็บไว้ในวันนี้ อาจเป็นทุนเพื่อใช้(ท่องเที่ยว)ในวันหน้า”
จะว่าไปแล้วในรอบสี่ปีที่ผ่านมา ฉันเดินทางไปญี่ปุ่น 5 ครั้ง สี่ในห้าครั้งมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองเดียวในดวงใจคือ “ฟูกูโอกะ” เมืองใหญ่ที่สุดบนเกาะคิวชู เกาะใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น และไม่อยากจะคุย (แต่ขอคุยหน่อยเถอะ) ว่าการเดินทางทุกครั้งไม่เคยต้องพึ่งพาบริการของบริษัททัวร์ใด ๆ เลย จึงอยากให้กำลังใจผู้ที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง และภาษาญี่ปุ่นก็ไม่กระดิกหู (อย่างฉันเอง) ว่าทุกคนสามารถท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่มีข้อแม้เพียงอย่างเดียวคือ ต้องเตรียมการให้พร้อมทำการบ้านหาข้อมูลให้ “แน่น”
การไปเยี่ยมเยือนฟูกูโอกะที่เปรียบเสมือนเพื่อนเก่าในครั้งนี้ มีผู้ร่วมเดินทางทั้งหมดสามชีวิต นอกจากฉันแล้ว อีกสองท่านล้วนเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิ(และวัยวุฒิ) ท่านแรก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร หรืออาจารย์โก้ อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬา ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เคยไปสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยโอซาก้าประมาณ 5 ปี และศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ หรืออาจารย์ปี๋ เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าไปแล้วนี่เป็นครั้งแรกที่ฉันมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศกับอาจารย์โก้ แต่กับอาจารย์ปี๋ เราเคยหัวหกก้นขวิดไปทั้งนอกและในประเทศหลายต่อหลายทริป
สำหรับการไปเมืองซามูไรเที่ยวนี้ เนื่องจากผู้ร่วมเดินทางเป็นนักวิชาการ จึงต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและรัดกุม มีการมอบหมายตำแหน่งหน้าที่ (แต่ไม่มีการแบ่งงานกันทำ) ฉันได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าทัวร์ ทำทุกอย่างที่หัวหน้าทัวร์พึงกระทำ เช่นวางแผนการเดินทาง หาตั๋วเครื่องบินที่ราคาถูกที่สุด หาตั๋วรถไฟ JR ศึกษาตารางรถไฟให้ได้เวลาที่เหมาะเหม็ง จองที่พักทุกเมือง (ถ้าที่พักถูกใจ ก็จะได้รับคำสรรเสริญเยินยอ แต่ถ้าไม่ต้องอัธยาศัยก็ถูกกระหน่ำซ้ำเติม)ฯลฯ อาจารย์โก้ ได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา มีหน้าที่ตอบเมลรับทราบทุกอย่างที่ฉันแจ้งให้ทราบ ส่วนอาจารย์ปี๋รีบบอกว่าคงไม่มีตำแหน่งอะไรว่างอีกแล้ว จึงขอจองเป็นลูกทัวร์(ที่ดี) ตลอดการเดินทาง
โชคดีที่การเดินทางครั้งนี้เป็นครั้งที่ห้า หัวหน้าทัวร์อย่างฉันจึงมีข้อมูลเป็นต้นทุนไว้บ้าง แต่ก็ยังคงต้องหาหนังสือมาอ่านเท่าที่หาได้ จากการสำรวจตลาดหนังสือและห้องสมุด ทำให้ฉันรู้ว่าหนังสือท่องเที่ยวเกาะใต้ของญี่ปุ่นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหนังสือท่องเที่ยวโตเกียว เกียวโต โอซาก้า
ฮอกไกโด เมืองเล็กๆที่สวยงามบนเกาะคิวชู เช่นยูฟูอิน (Yufuin) หรือ ทาคาชิโฮะ (Takachiho) หาข้อมูลจากเอกสารได้น้อยเต็มที ทำให้ฉันต้องขอบคุณความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคข้อมูลข่าวสารท่วมท้น เพียงลัดนิ้วมือ แค่พิมพ์และกดปุ่มบนคอมพิวเตอร์ ข้อมูลก็ทะลักมากองตรงหน้า เลือกเสพได้ตามอัธยาศัย
ฉันกำหนดไว้ว่าจะใช้เวลาท่องเที่ยว 9 วัน 4 เมือง จากเหนือลงใต้ เริ่มต้นที่ฮากะตะ (Hakata) ยูฟูอิน (Yufuin) เบปปุ (Beppu) ทาคาชิโฮะ (Takachiho) และสิ้นสุดการเดินทางที่ฮากะตะ
สายการบินแห่งชาติพาเราสามคนออกจากสนามบินสุวรรณภูมิประมาณเที่ยงคืนสี่สิบนาที ถึงสนามบินนานาชาติฟูกูโอกะแปดโมงเช้าไม่มีดีเลย์ เราผ่านด่านศุลกากรมาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก จากนั้นเพื่อเป็นการประหยัด เราจึงไม่นั่งแท็กซี่ แต่ใช้บริการรถโดยสารฟรี (Shutter Bus) จากอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ มายังอาคารผู้โดยสารในประเทศ เพื่อนั่งรถไฟใต้ดินต่ออีกเพียง 2 ป้าย (ราคา 230 เยน อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 36 บาท ต่อ 100 เยน) ก็ถึงสถานีฮากะตะ แรก ๆ ฉันเกิดความสับสนระหว่าง ฟูกูโอกะ กับฮากะตะ ว่าเป็นชื่อเมืองเดียวกันหรือไร และก็ได้คำตอบว่า เดิมฟูกูโอกะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน มีแม่น้ำนาคะกาวา (Nakagawa) คั่นกลาง ฟากหนึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาท อันเป็นที่อยู่ของเจ้าเมือง อีกฟากหนึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพ่อค้าและประชาชน เรียกว่า “ฮากะตะ” ต่อมามีการรวมเมืองทั้งสองฟากเข้าด้วยกัน รวมเรียกว่า “ฟูกูโอกะ” ส่วน “ฮากะตะ” ในปัจจุบัน ใช้เป็นชื่อเรียกเขตกลางเมืองฟูกูโอกะ และมีสถานีรถไฟฮากะตะ (Hakata Station) เป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเราใช้เป็นจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายของการเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ บนเกาะคิวชู
โรงแรมที่จะจองไว้วันแรกชื่อ Hakata Green Hotel (อาคาร 2) เป็นโรงแรมที่ใช้เวลาเดินจากสถานีรถไฟฮากะตะเพียง 5 นาที ลากกระเป๋าไม่ทันเมื่อยก็ถึงแล้ว จึงอยากให้ข้อเสนอแนะเล็กๆน้อยๆสำหรับผู้รักการท่องเที่ยวโดยไม่พึ่งบริษัททัวร์ว่า ควรหาโรงแรมที่ใกล้สถานีรถไฟที่สุด เพื่อสะดวกในการเดินทาง การหาข้อมูลโรงแรมทำได้ไม่ยาก ฉันใช้บริการเว็บไซต์ www.japanhotel.net ในเว็บไซต์นี้จะมีชื่อและรูปถ่ายของโรงแรมตามเมืองต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวเลือกตามความพอใจ ในเว็บฯจะแจงรายละเอียดต่างๆ เช่น สนนราคาค่าห้องพัก สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในโรงแรม รวมทั้งแผนที่และระยะเวลาโดยประมาณจากสถานีรถไฟในแต่ละเมือง เมื่อเลือกโรงแรมที่พึงพอใจได้แล้ว ก็กรอกรายละเอียดเพื่อจองห้องพักได้เลย และวันรุ่งขึ้นก็จะได้รับอีเมลยืนยันการจอง สำหรับการจ่ายเงินค่าโรงแรม บางโรงแรมรับทั้งเงินสดและเครดิตการ์ด บางโรงแรมโดยเฉพาะเรียวกังในเมืองเล็ก ๆ จะรับเฉพาะเงินสดเท่านั้น และการจ่ายเงินจะกระทำกันต่อเมื่อถึงโรงแรมนั้น ๆเป็นที่เรียบร้อย
โรงแรมต่างๆในประเทศญี่ปุ่นจะเช็คอินเข้าห้องพักไม่ได้จนกว่าจะบ่ายสามโมง เราจึงจัดแจงฝากกระเป๋า ล้างหน้าล้างตา และเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวกันทันที แต่ก่อนอื่นเราต้องเอาตั๋ว JR Rail Pass ที่ซื้อจากเมืองไทยไปแลกที่สถานีรถไฟฮากะตะ ตั๋ว JR จะซื้อได้เฉพาะนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น และต้องซื้อนอกประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ราคาจะถูกกว่าซื้อตั๋วรถไฟที่ญี่ปุ่น ฉันกับอาจารย์ปี๋ซื้อตั๋ว JR Kyushu 5 วัน ราคา 16,000 เยน ส่วนอาจารย์โก้ซื้อ JR Rail Pass ระยะเวลา 7 วัน แบบเดินทางได้ทั่วประเทศเพื่อต่อไปโอซาก้า ราคาจึงแพงกว่า ขั้นตอนการแลกตั๋วก็ไม่ยากเย็นอะไร เพียงแค่กรอกเอกสารเพียงเล็กน้อย ก็จะได้แผ่นพับเป็นกระดาษแข็งสามตอนสีน้ำเงิน หน้าแรกจะพิมพ์วันที่เริ่มใช้และวันที่ตั๋วรถไฟจะหมดอายุ ชื่อนามสกุล และหมายเลขพาสปอร์ต เมื่อจะเดินทางก็ยื่นให้เจ้าหน้าที่ที่ยืนอยู่ในช่องทางพิเศษ เพราะเราจะเข้าช่องทางที่ปกติที่ผู้โดยสารเอาตั๋วเสียบไม่ได้ เว็บไซต์ที่ติดต่อซื้อตั๋วรถไฟของฉันเป็นของบริษัท JTB (Thailand) www.jtbgmt.com/sunrise สำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อโอนเงินเรียบร้อย ก็จะได้รับตั๋วในวันรุ่งขึ้นทางไปรษณีย์ EMS
เอาล่ะ กายพร้อม ใจพร้อม เราควรต้องเริ่มออกเดินทางกันเสียที เมืองแรกที่เป็นเป้าหมายคือเมืองดาไซฟุ (Dazaifu) อยู่ไม่ไกลฮากะตะเท่าไหร่ เดินทางด้วยรถไฟใช้เวลาประมาณ 30 นาที ค่ารถไฟ 390 เยน เรายังเลือกไม่ใช้ตั๋วรถไฟ JR ที่ซื้อจากเมืองไทยในวันนี้ เพราะเป็นการเดินทางระยะสั้น ดาไซฟุเป็นเมืองที่พลาดไม่ได้สำหรับนักเรียนนักศึกษา เพราะมีศาลเจ้าชื่อเดียวกับเมืองคือ ศาลเจ้าดาไซฟุ (Dazaifu Tenmuangu Shrine) ศาลเจ้านี้มีตำนาน ว่ากันว่าเป็นศาลเจ้าที่สร้างเป็นอนุสรณ์แก่ มิชิซาเนะ ซึงะวาระ (Michizane Sugawara) ซึ่งเป็นปราชญ์และกวีเอกของญี่ปุ่นที่ถูกเนรเทศมาจากเกียวโตโดยไม่มีความผิดและเสียชีวิตลงที่นี่ ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งการศึกษา ดังนั้นภาพที่เห็นเมื่อไปถึง นอกจากจะมีนักเดินทางที่มากันคลาคล่ำแล้วยังมีนักเรียนนักศึกษากลุ่มใหญ่ มีแม้กระทั่งพ่อแม่จูงเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ สวมชุดกิโมโนสวยงามมาไหว้ขอพรให้เติบโตเป็นเด็กฉลาดและมีสติปัญญาเป็นเลิศ
ช่วงเวลาที่เราเดินทางมาถึงที่นี่ ศาลเจ้าดาไซฟุจะสวยงามเป็นพิเศษ เพราะเป็นฤดูที่ต้นพลัมนับสิบนับร้อยต้น แข่งกันออกดอกชูช่องดงาม ดอกพลัมหรือดอกบ๊วยไล่สีสวยสดจากชมพูเข้มถึงชมพูอ่อน มีเกสรสีขาวแต่งแต้มด้วยจุดสีเหลืองในส่วนปลาย พร้อมใจกันบานเต็มทุกกิ่งก้าน ความงดงามบางส่วนสามารถบันทึกไว้ด้วยกล้องของเราทั้งสามคน และฉันเชื่อว่าทุกภาพที่มองเห็นได้ถูกบันทึกไว้ในใจนับแต่วินาทีนั้นเรียบร้อยแล้ว
เสน่ห์ของเมืองดาไซฟุ นอกจากศาลเจ้าและดอกไม้แล้ว ระหว่างถนนเล็กๆ สู่ศาลเจ้า จะรายล้อมไปด้วยร้านขายของสารพัน แต่ละร้านตกแต่งน่าเอ็นดู ที่อาจารย์ปี๋ติดใจคือ หน้าทางเข้าร้านหรือบางทีภายในร้านจะประดับด้วยมุมสวนเล็ก ๆ จัดอย่างมีรสนิยม และแต่ละร้านจะมีสินค้าให้เลือกมากมาย ของบางอย่างเสพได้เฉพาะทางสายตา เพราะราคาสูงเหลือใจ แต่บางอย่างถ้ากำลังทรัพย์เพียงพอ ก็ซื้อติดไม้ติดมือกลับมาให้รำลึกถึงได้
ญี่ปุ่นเป็นต้นกำเนิดขนมโมจิหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ที่เมืองดาไซฟุ ท่ามกลางร้านรวงสองข้างทาง ยังสลับด้วยร้านขายโมจิหลายต่อหลายร้าน ทำกันสดๆให้เห็นกันจะจะ ขนมโมจิของเมืองนี้ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว สอดไส้ด้วยถั่วแดง เรียกว่า “อุเมะงะเอะ โมจิ” (Umegae-Mochi) แต่ดั้งเดิมจริงๆ จะเป็นไส้ลูกพลัม ที่พิเศษคือมีร้านหนึ่งพอเห็นเราสามคนเดินผ่านก็พูดทักทาย “สวัสดี” เป็นภาษาไทยซะด้วย มีหรือที่เราจะไม่เข้าไปอุดหนุน ซื้อคนละชิ้น กินอุ่น ๆ อร่อยใช้ได้เลยเชียว
กว่าสี่ชั่วโมงที่ดาไซฟุผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน ก่อนขึ้นรถไฟกลับ ฉันกับอาจารย์ปี๋ขอเวลาเดินไปวัดโคมิโอเซ็นจิ (Komyozenji Temple) อาจารย์โก้เมื่อยขาเต็มทีจึงนั่งรอเราหน้าวัด ภายในวัดตกแต่งด้วยสวนหินแบบเซ็น ร่มรื่นด้วยต้นเมเปิ้ล ที่พื้นดินบางส่วนมีหญ้ามอสปกคลุมเขียวขจีคล้ายพรมสีเขียวผืนใหญ่ปูลาดทับ แต่เมื่อครั้งที่ผ่านมา อีกฤดูกาลหนึ่ง ประมาณเดือนต้นเดือนธันวาคม ฉันกับอาจารย์ปี๋ได้เห็นอีกสีสันของวัดแห่งนี้ ใบเมเปิ้ลสีแดงร่วงหล่นเต็มลาน สวยสดงดงามไปอีกอารมณ์หนึ่ง
ก่อนที่จะเดินไปสถานีรถไฟ เราเหลียวกลับมาดูถนนสายเล็ก ๆ มีฉากหลังเป็นภูเขา มีสองข้างทางเรียงรายไปด้วยร้านรวงอีกครั้ง ใครคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า ประเทศญี่ปุ่นมีถึงสี่ฤดูกาล แล้วเราจะไม่กลับมาเพื่อชื่นชมดาไซฟุในฤดูกาลอื่น ๆ อีกหรือ เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบดัง ๆ แต่เมื่อหันมามองหน้ากัน เราต่างรู้คำตอบในใจเรียบร้อยแล้ว
พรุ่งนี้...การผจญภัยที่แท้จริงกำลังจะเริ่มต้น เราจะอำลาฮากะตะเพียงชั่วคราว จุดหมายของเราคือ ยูฟูอิน เมืองเล็ก ๆ ในหุบเขา เมืองพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยงานศิลปะ เมืองที่ถ้าใครมีโอกาสได้มาเห็นด้วยตาและสัมผัสด้วยใจแล้ว ยากนักที่จะตัดใจไม่หวนกลับมาอีกครั้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น