วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วิจารณ์ "824: เรื่องราวของแปดชีวิตในยี่สิบสี่ชั่วโมง"

824 :เรื่องราวของแปดชีวิตในยี่สิบสี่ชั่วโมง
                                                                                                                                ชฎารัตน์ สุนทรธรรม

                แม้ว่างานวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้น นวนิยายแนวคตินิยมสมัยใหม่ หลังสมัยใหม่ รวมถึงวรรณกรรมเสียดสีสังคมหลังสมัยใหม่กำลังมาแรงในทศวรรษนี้ แต่นวนิยายเรื่อง 824” ของ         งามพรรณ เวชชาชีวะ ก็ไม่ได้เลื่อนไหลไปตามกระแส นวนิยายของเธอยังคงทำหน้าที่สะท้อนแง่มุมที่งดงามของชีวิต ถ่ายทอดด้วยภาษาที่อ่านง่ายแต่ทรงพลัง ทำให้ผู้อ่านเต็มอิ่มไปกับความรัก หลากหลายรูปแบบและซาบซึ้งกับความเอื้ออาทรระหว่างเพื่อนมนุษย์ ปรากฏการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่นับวันจะพานพบได้ยากยิ่งในสังคมปัจจุบัน                                                                                                 
                เทคนิคการนำเสนอ
นวนิยายเล่มนี้สะดุดตาที่หน้าปกสีเหลืองสดใสผสานกับชื่อเรื่องแปลกแหวกแนว แต่ก็ไม่ได้สร้างความสับสนงุนงงให้กับผู้อ่าน เพราะความหมายของชื่อเรื่อง 824” ถูกเฉลยไว้ด้วยตัวอักษรสีแดงขนาดย่อมบนชื่อเรื่องว่า เรื่องราวของแปดชีวิตในยี่สิบสี่ชั่วโมง ตัวละครทั้งแปดปรากฏบนปกด้วยเทคนิคภาพเงาของมนุษย์ชายหญิงเจ็ดชีวิตและสุนัขอีก 1 ตัว
                นวนิยายเรื่อง 824” ประกอบไปด้วยเนื้อหา 32 ตอน ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ เนื่องจากชื่อเรื่องเป็นตัวกำหนด 8 ตอนแรก เป็นเรื่องราวของตัวละครทั้งแปดชีวิต และอีก 24 ตอน ในช่วงหลังดำเนินเรื่องตามลำดับเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงตั้งแต่ 7.00 น. ถึง 6.00 น.ของวันรุ่งขึ้น การขึ้นต้นด้วย    คำโปรย ในตอนที่หนึ่งถึงตอนที่แปด เช่น ลุงสุขกับป้าแสงคู่ประหลาดในสายตาของชาวบ้าน ถึงไม่มี กูก็ไม่เคยขอใครกิน มอมแมมวิ่งมาที่ศาลเจ้าทุกเช้า หรือ มีนาเป็นลูกเป็ดขี้เหร่ของคนในซอย เหล่านี้ ทำให้นึกถึงนวนิยายรางวัลซีไรต์ผลงานของผู้เขียนคนเดียวกันในเรื่อง  ความสุขของกะทิ  และเรื่อง ตามหาพระจันทร์  ที่งามพรรณใช้เทคนิคนี้ในการสร้างความสนใจใคร่รู้หรือเป็นการบอกนัยยะเกี่ยวกับตัวละครที่กำลังโลดแล่นอยู่ในแต่ละตอน และตั้งแต่ตอนที่เก้า
เป็นต้นไป ผู้เขียนจะใช้เวลาเป็นตัวกำหนดการดำเนินเรื่องจนครบยี่สิบสี่ชั่วโมง
                กลวิธีการสร้างตัวละคร
                ตัวละครทั้งแปดของเรื่อง 824” ได้แก่ลุงสุข ป้าแสง ลุงต่อ มอมแมม มีนา  มิเชล ป้าแหวง และเจ๊ศรี       ดำเนินชีวิตอยู่ในซอยเดียวกันชื่อ ซอยอยู่สบาย ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายฉากของซอยนี้ไว้ในตอนเปิดเรื่องว่า
                อย่างแรกก็ต้องโทษ ซอยอยู่สบาย ที่ไม่กว้างขวางจอแจ ผู้อยู่อาศัยไม่หนาแน่นทำให้คุ้นหน้าคุ้นตาและอดไม่ได้ที่จะสนใจกัน ผิดวิสัยคนในเมืองใหญ่ทั่วไปที่มักจะต่างคนต่างอยู่ สภาพซอยก็ออกจะเป็นแนวลูกผสม มีลักษณะครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพราะพื้นผิวที่เทคอนกรีตมีสองเลน รถแล่นสบายนั้นมีมาถึงแค่ค่อนซอยก็หมดบุญเอาดื้อ ๆ ทำให้ส่วนท้ายซอยเล็กแคบ เป็นถนนขรุขระ มีหลุมบ่อน้ำท่วมขัง ...ซอยนี้จึงแบ่งแยกเป็นครึ่งแรกและครึ่งหลัง ชาวบ้านที่อยู่ริมถนนคอนกรีตหรือ ครึ่งแรก จะใช้คำว่าพวกโน้น เมื่อหมายถึงผู้อยู่ตึกแถวสองชั้นริมถนนที่เป็นหลุมบ่อ และผู้อยู่ตึกแถวริมถนนที่เป็นหลุมบ่อหรือ ครึ่งหลัง ก็จะใช้คำว่า พวกโน้น ยามพาดพิงถึงบรรดาบ้านเดี่ยวมีรั้วรอบขอบชิดและตึกแถวร้านค้าสี่ชั้นริมถนนคอนกรีต... (หน้า 11 – 12)
                งามพรรณปูพื้นฐานให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครในซอยอยู่สบายไว้ในแปดตอนแรก ไม่ว่าจะเป็น ลุงต่อ มอมแมม มีนา มิเชล ป้าแหวงและเจ๊ศรี รวมทั้งตัวละครอื่นที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในซอยอยู่สบายแต่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับผู้คนในซอยนี้  เช่น เสมอ นายของมอมแมม  สันทัดคนรักของมีนา หรือจรรยาที่ในอดีตเคยตกหลุมรักลุงสุข ภูมิหลังของตัวละครทุกตัวผู้เขียนถ่ายทอดด้วยภาษาที่ละเมียดละไม    ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุผลของการกระทำและสัมผัสได้ถึงนิสัยใจคอของตัวละครแต่ละตัวได้อย่างแจ่มชัด  จะมียกเว้นก็แต่ลุงุสุขกับป้าแสงซึ่งเป็นตัวละครคู่สำคัญที่ผู้เขียนใช้กลวิธีการหน่วงเรื่องทำให้ผู้อ่านค่อย ๆ รับรู้ชะตาชีวิตของคนทั้งสองที่ต้องพลัดพรากจากกันนานนับยี่สิบปี  กว่าผู้อ่านจะต่อจิ๊กซอภาพชีวิตของลุงสุขกับป้าแสงได้ครบก็ต่อเมื่ออ่านจนจบเรื่อง และเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจเมื่อต้องรับรู้ว่ากว่าโชคชะตาจะบันดาลให้ทั้งสองได้พบกันได้อยู่ดูแลกันอีกครั้ง ก็เป็นไปในลักษณะที่ เป็นความทรงจำแสนล้ำค่าของคนหนึ่ง ขณะที่ไม่หลงเหลือตราประทับใดไว้ในความทรงจำของอีกคนหนึ่งเลย (หน้า 58) ในส่วนที่เหลืออีกยี่สิบสี่ตอนหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือช่วงเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงต่อมา ผู้เขียนจะสอดร้อยเรื่องราวให้ตัวละครทั้งแปดดำเนินชีวิตไปตามความฝัน ความหวังและตามครรลองชีวิตของแต่ละคน        
                 ภาพสะท้อนของความรักหลากหลายรูปแบบ
                ในส่วน คำนำผู้เขียน งามพรรณกล่าวไว้ว่า “824 เป็นเพียงเส้นทางหนึ่งที่ผู้เขียนเลือกพาผู้อ่านไปพบกับแปดชีวิตที่ล้วนมีหัวใจหนึ่งเดียวในอก หัวใจที่มีความหวัง ความฝัน และความรักที่จะมอบให้ ความสมหวังในความรักเป็นสิ่งที่หัวใจทุกดวงปรารถนา แต่การจะได้มาย่อมต้องแลกด้วยสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งความรักเองด้วย (หน้า 6)
                เรื่องราวของความรักจึงเป็นแนวคิดสำคัญของนวนิยายเรื่องนี้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วความรัก ความสัมพันธ์ของตัวละครหลายคู่ในเรื่องจะลงเอยอย่างไรก็ยากที่จะคาดเดา เพราะผู้เขียนได้นำเพียงส่วนเสี้ยวของชีวิตตัวละครมาให้ผู้อ่านได้สัมผัส ซึ่งล้วนเป็นส่วนเสี้ยวของชีวิตที่สะท้อนให้เห็นแง่มุมที่งดงามในเรื่องความรักและความเอื้ออาทร ยกตัวอย่างเช่นความรักของลุงสุขกับป้าแสง
ลุงสุขหรือสุขวิทย์ จิตงาม เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาเขาเป็นนักกีฬาลีลาศที่มีฝีไม้ลายมือขึ้นชื่อ การอยู่ในชมรมลีลาศทำให้เขารู้จักกับอาจารย์แสงดาว อาจารย์สาวนักเรียนนอกที่หลายคนหลงใหลใฝ่ฝันรวมทั้งสุขวิทย์เองด้วย แต่ด้วยสถานภาพ อายุ รวมทั้งฐานะที่แตกต่างกันทำให้สุขวิทย์ไม่อาจเอื้อมที่จะแสดงความในใจให้แสงดาวได้รับรู้ และในขณะนั้นจรรยานักศึกษาสาวต่างคณะที่เป็นคู่เต้นรำของสุขวิทย์ในการแข่งขันกีฬาลีลาศระดับมหาวิทยาลัยก็หลงรักสุขวิทย์อยู่ หลายคนในชมรมรวมทั้งแสงดาวเห็นว่าทั้งคู่เป็นคู่รักที่เหมาะสมกันอย่างยิ่ง  ...แต่สายตาและหัวใจของสุขวิทย์ไม่เคยเป็นของจรรยาเพราะเขาได้มอบให้กับคนคนหนึ่งที่อยู่ สูง กว่าเขาไปเสียแล้ว...(หน้า 24)
ความสนิทสนมของสุขวิทย์และแสงดาวพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ แสงดาวมักเปิดบ้านชวนเพื่อน ๆ และสุขวิทย์มาซ้อมลีลาศอยู่เสมอ ความใกล้ชิดทำให้สุขวิทย์เกิดความผูกพันกับแสงดาวมากขึ้น แต่เป็นความผูกพันที่เกิดขึ้นและงอกงามอยู่ในใจของสุขวิทย์เพียงฝ่ายเดียว เพราะสำหรับแสงดาวนั้น   สุขวิทย์เป็นเพียงเพื่อนที่เธอรู้ว่าจะอยู่เคียงข้างเธอเสมอทั้งในยามสุขและทุกข์ ไม่ได้คิดเกินเลยไปกว่านั้นและเธอเห็นว่าจรรยาเหมาะสมกับสุขวิทย์เป็นที่สุด เมื่อวันหนึ่งสุขวิทย์เผลอแสดงความในใจให้แสงดาวได้รับรู้ เธอจึงตกใจและคาดไม่ถึง
แต่เรื่องราวของความสัมพันธ์ของคนทั้งสองก็ต้องสะดุดหยุดลงเมื่อสุขวิทย์ได้รับบาดเจ็บจากการแข่งขันลีลาศ เขาเอาตัวเข้าปกป้องแสงดาวเมื่อถูกคู่เต้นรำอีกคู่หนึ่งวิ่งเข้ามาชน ทำให้เขาต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ประจวบกับท่านนายพลพ่อของแสงดาวถูกสอบสวนในคดี
ฉ้อราษฎร์บังหลวงและต้องหลบหนี   แสงดาวต้องติดตามท่านนายพลไปด้วย และเมื่อแสงดาวมาเยี่ยมสุขวิทย์อย่างเร่งรีบในวันที่เธอจะต้องออกเดินทาง แต่สุขวิทย์ยังไม่ฟื้น เธอจึงฝากจดหมายไว้กับจรรยา จรรยาจงใจไม่ให้สุขวิทย์ได้รับรู้ เธอเก็บจดหมายฉบับนั้นไว้ถึงยี่สิบปี เมื่อได้พบกันอีกครั้งจรรยาสำนึกผิด เธอจึงมอบจดหมายให้กับสุขวิทย์และกล่าวขอโทษแสงดาว แต่แสงดาวอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถรับรู้เรื่องราวใด ๆ ได้อีกต่อไป เพราะเธอป่วยด้วยโรค เอฟทีดี เป็นโรคที่ทำให้สูญเสียความทรงจำและความสามารถในการพูดไปทีละน้อย แต่เธอก็ไม่ได้ต่อสู้กับโรคร้ายเพียงลำพัง เพราะเมื่อสุขวิทย์ได้ข่าวความเจ็บป่วยของแสงดาว เขาอาสารับเธอมาดูแลในยามที่เธอช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกต่อไป ความรักของสุขวิทย์ที่มีต่อแสงดาวไม่ใช่ความรักที่ฉาบฉวย หรือหลงใหลในรูปลักษณ์ที่งดงามแบบชายหนุ่มรักหญิงสาวเหมือนเมื่อยี่สิบปีก่อน แต่เป็นความรัก ความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจและความเสียสละที่เกิดขึ้นและคงอยู่ในหัวใจที่มั่นคงตลอดมา ความสมหวังของสุขวิทย์ต้องแลกมาด้วยรักและความปวดร้าว เพราะถึงแม้จะได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในบั้นปลาย แต่แสงดาวไม่ได้หลงเหลือความทรงจำที่ดีงามใด ๆ เกี่ยวกับเขาอีกต่อไป
                ตัวละครที่มีสีสันอีกตัวหนึ่งในนวนิยายเรื่องนี้คือป้าแหวง ผู้ซึ่งเชื่อมั่นว่าตนเองเป็นหญิงเต็มร้อย แม้ว่าร่างกายจะเป็นอื่น ป้าแหวงมีรายได้พอกินพอใช้จากฝีมือการรับจ้างปักผ้าพอเลี้ยงหนุ่ม ๆ ที่แวะเวียนเข้ามาในชีวิต ความรักของป้าแหวงเหมือนโชคชะตาเล่นตลกอยู่ตลอดเวลา เพราะป้าแหวงรู้ว่าด้วยสถานภาพที่เป็นอยู่จะหารักแท้และความจริงใจจากใครอื่นได้ยาก ป้าแหวงตระหนักดีว่าสำหรับเธอเองแล้ว ความรัก ถ้ายิ่งวิ่งไล่ มันมักวิ่งหนี ไขว่คว้าได้เพียงความว่างเปล่า ไม่เคยเติมหัวใจป้าแหวงให้เต็มได้ แต่ถ้าเผลอมันก็มักมาคลอเคลียอยู่ใกล้ ๆ ป้าแหวงจึงทำเป็นสงวนท่าทีในความรัก ทั้งที่ในใจกู่ร้องเพรียกหาทุกนาที ความสมหวังในความรักของป้าแหวงกับวิชา ญาติห่าง ๆ เกิดจากหัวใจรักของป้าแหวงเพียงอย่างเดียว ป้าแหวงยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อวิชา เพราะน้องชายของวิชาติดหนี้พนันบอลและถูกคุกคามจะเอาชีวิต วิชาไปเจรจากับเจ้าหนี้และเจ้าหนี้สัญญาจะล้างหนี้ให้ถ้านำยาเสพติดไปส่งลูกค้า วิชาจึงมาปรึกษาป้าแหวง ป้าแหวงตัดสินใจหอบหิ้วถุงยาขึ้นโรงพักแจ้งตำรวจโดยไม่ให้วิชารู้ และยอมร่วมมือกับตำรวจเสี่ยงชีวิตซ้อนแผนในวันส่งมอบยา จนตำรวจจับคนร้ายและสืบสาวถึงต้นตอได้ วิชาซาบซึ้งและตอบแทนป้าแหวงด้วยชีวิตเช่นกัน โดยยอมเสี่ยงวิ่งเข้าไปช่วยป้าแหวงซึ่งวิชาคิดว่าติดอยู่ในทาวน์เฮาส์ที่ถูกไฟไหม้ แต่ทั้งสองก็ปลอดภัย และวิชาได้ให้คำมั่นสัญญากับป้าแหวงว่าจะกลับมาหา...วิชาจะกลับมาอย่างที่พูดหรือเปล่า ป้าแหวงไม่รู้ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต แต่หัวใจรักของป้าแหวงสิ้นสุดการเดินทางที่ยืดเยื้อมายาวนาน และหยุดพักอย่างสุขสงบ ณ ตรงนี้แล้ว นับจากวันนี้สืบไป...(หน้า 193)
                ส่วนมีนานักเรียนพาณิชย์ ที่หารายได้พิเศษด้วยการเป็นสาวพริตตี้ ครอบครัวของเธอไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินทอง แต่เธออยากมีรายได้เป็นของตนเอง มีนาเป็นวัยรุ่นที่ไม่ได้ตกเป็นทาสของสังคมบริโภคนิยม หรือใช้ตัวเข้าแลกเพื่อทรัพย์สินเงินทอง สิ่งที่เธอปรารถนาคือใครสักคนซึ่งไม่จำเป็นต้องร่ำรวยแต่รักเธอด้วยความจริงใจ เธอจึงพอใจสันทัด รปภ.บริษัทรับจัดงานแห่งหนึ่ง เขาไม่ร่ำรวย การศึกษาไม่สูง แต่สันทัดมีความจริงใจ ห่วงใย ไม่รู้สึกเบื่อหรือเหนื่อยและรู้สึกเต็มตื้นล้นใจทุกครั้งเมื่อได้ทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้มีนา มีนาจึงปฏิเสธโอกาสที่เจ้าของบริษัทยิบยื่นให้และเธอเลือกที่คบหาสันทัด รปภ.ของบริษัทแทน ความสัมพันธ์ของมีนาและสันทัดเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้บนพื้นฐานของความรัก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมั่งมีหรือทรัพย์สินเงินทองใด ๆ ทั้งสิ้น
                นอกจากเรื่องราวของความรักหลากหลายรูปแบบ นวนิยายเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมโลก เช่นมิตรภาพระหว่างมิเชลกับลุงต่อ ความเมตตาของเจ๊ศรีและลุงต่อที่มีต่อมอมแมม หมาจรจัดที่มาอาศัยอยู่ในศาลเจ้า นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดีของ มอมแมม ที่มีต่อ เสมอ เจ้านายของมันที่ถูกรถน้ำมันพุ่งชนเสียชีวิต ทั้งหมดทั้งมวลล้วนสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ด้านบวกของมนุษย์และเพื่อนร่วมโลกแทบทั้งสิ้น
เรื่องราวของแปดชีวิตในซอกมุมเล็ก ๆ ของเมืองหลวงที่กว้างใหญ่ไพศาลนี้ ทุกชีวิตล้วนประสบปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่ปัญหาก็ไม่ได้ทำให้จิตใจของใครตกต่ำลง ในทางตรงกันข้ามกลับมีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ผู้เขียนจึงประสบความสำเร็จที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเต็มตื้นกับแง่มุมดี ๆ ของชีวิต เพราะโดยวิถีของคนเมืองที่ทุกชีวิตต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ยากนักที่จะเหลือช่องว่างของหัวใจไว้คอยประคับประคองจิตใจของผู้อื่น แต่ทั้งแปดชีวิตในซอยอยู่สบายกลับทำให้ผู้อ่านตระหนักว่า ความรัก ความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจที่หยิบยื่นให้ใครก็ตาม เป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่และเปรียบเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
******
ขวัญเรือน ปักษ์หลัง มิถุนายน 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น