ไม่มี “วันสตรีสากล”ในคาบูล
ชฎารัตน์ สุนทรธรรม
นวนิยายเรื่องถนนหนังสือสายคาบูล (The Bookseller of Kabul) ผลงานของ อัสนี เซียร์สตัด (Asne Seierstad) นักเขียนและคนข่าวสาวชาวนอร์เวย์ แปลเป็นไทยโดยนักแปลคุณภาพ จิระนันท์ พิตรปรีชา ถนนหนังสือสายคาบูลถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกครอบครัวสุลต่าน คาน ครอบครัวชนชั้นกลางชาวอัฟกัน ในยุคที่ตาลีบันพ่ายแพ้ต่อกองกำลังพันธมิตร และถอนกองกำลังออกจากคาบูล หลังเหตุการณ์ 9-11 (ค.ศ.2001) อัสนี เซียร์สตัดขอเข้าไปพำนักกับครอบครัวของสุลต่าน คาน เธอกล่าวว่า
“ฉันลงมือเขียนมันออกมาในรูแบบของนิยาย แต่ก็อิงตามเรื่องจริงที่เกิดขึ้น หรือได้รับการถ่ายทอดโดยบุคคลที่อยู่ในแต่ละเหตุการณ์ ตอนที่เป็นการบรรยายสภาพอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด ก็มาจากปากคำของบุคคลนั้น ๆ ผู้อ่านมักสงสัยว่าฉันไปล่วงรู้ความในใจของทุกคนได้อย่างไร คำตอบก็คือ ฉันไม่ใช่นักเขียนผู้รู้ไปหมด แต่ก็ได้รับฟังจากพวกเขาแต่ละคนว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตตน” (หน้า 12 – 13)
ในแง่มุมหนึ่ง นวนิยายเรื่องนี้ได้สะท้อนมิติทางด้านประวัติศาสตร์ของประเทศอัฟกานิสถานในช่วงระยะเวลาอันมืดมนให้ผู้อ่านได้รับรู้ บาดแผลและความบอบช้ำของชาวอัฟกันที่ต้องประสบพบเจอสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 เมื่อสหภาพโซเวียตบุกยึดอัฟกานิสถาน และพยายามปราบปรามอิสลามกลุ่มต่าง ๆ แต่ถูกต่อต้านโดยกลุ่มมูจาฮิดีน การสู้รบสืบเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี ต่อมาเมื่อสหภาพโซเวียตถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานในปี ค.ศ.1989 ประชาชนชาว อัฟกันเริ่มมีความหวังว่าสันติภาพจะบังเกิดขึ้นในดินแดนของพวกเขา แต่ความหวังทั้งมวลก็สูญสลายไป เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพวกมูจาฮิดีนกับรัฐบาลที่เป็นหุ่นเชิดให้สหภาพโซเวียต การสู้รบอันดุเดือดระหว่างฝ่าย ต่าง ๆ ในกลุ่มกองกำลังมูจาฮิดีนดำเนินอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 5 ปี จวบจนกระทั่งในปี ค.ศ.1996 เมื่อกองทัพตาลีบันบุกโจมตี ทำให้กลุ่มมูจาฮิดีนยกพลหลบหนีออกจากเมือง
ในยุคเงามืดของพวกตาลีบัน ศิลปวัฒนธรรมรวมทั้งศิลปวัตถุของชาวอัฟกันถูกทำลายอย่างย่อยยับ กล่าวกันว่ากองกำลังตาลีบันใช้เวลาเพียงครึ่งวันในการทำลายประวัติศาสตร์ของชาวอัฟกันที่สั่งสมมานานนับพันปี นอกจากนี้รัฐบาลตาลีบันยังมีนโยบายต่อต้านความทันสมัยในทุก ๆ ด้าน มีการออกกฎข้อบังคับเรื่องการแต่งกายของประชาชนว่าควรปกปิดมิดชิด และผู้หญิงควรถูกกักบริเวณในบ้านแยกออกจากสังคม ต่อมาเกิดเหตุการณ์สะท้านโลก 11 กันยายน ประเทศอัฟกานิสถานถูกสหรัฐถล่มด้วยระเบิดในฐานะเป็นแหล่งซ่อนตัวของผู้ก่อการร้าย พวกตาลีบันถูกฝ่ายพันธมิตรรุกไล่จนต้องถอนกำลังออกจากคาบูล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวอัฟกันและครอบครัวของสุลต่าน คาน เปิดเผยให้โลกรับรู้ในช่วง ค.ศ.2001 หลังจากรัฐบาลตาลีบันแตกพ่ายและถอนกองกำลังออกจากจากคาบูล
สุลต่าน คาน เป็นลูกชายคนโตของครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน พ่อแม่ของเขาเก็บหอมออมเงินเพื่อส่งเสียให้เขาได้เล่าเรียน เมื่อเติบโตขึ้นสุลต่าน คาน ประกอบอาชีพเป็นวิศวกรระยะหนึ่ง แต่ด้วยความหลงใหลในหนังสือ เขาหันหลังจากอาชีพวิศวกรไปเปิดกิจการร้านหนังสือตั้งแต่แต่อายุ 20 เขาสามารถนำธุรกิจร้านหนังสือฝ่ามรสุมสงครามกลางเมืองในคาบูลมาได้ตลอดรอดฝั่ง ขยายกิจการได้หลายสาขา โดยมอบหมายให้น้องชายและลูกชายดูแลกิจการที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไป
เมื่อครั้งที่พ่อของสุลต่าน คานเสียชีวิต สุลต่าน คานในฐานะลูกชายคนโต ได้สืบทอดอำนาจต่อจากพ่อ คำสั่งของเขาคือกฎหมายของบ้าน ใครไม่ปฏิบัติตามจะได้รับโทษ เขาไม่เพียงเป็นนายใหญ่ของบ้านนี้ หากยังพยายามแผ่อำนาจไปปกครองพี่ ๆ น้อง ๆ ที่แยกย้ายครอบครัวออกไปแล้วด้วย ดูเหมือนลัทธิปิตาธิปไตย (patriaechy) ที่หมายถึงอำนาจของบิดา ซึ่งต่อมาหมายรวมถึงระบบชายเป็นใหญ่ ได้เข้าครอบคลุมฝังรากลึกลงในครอบครัวของชาวอัฟกัน สุลต่าน คาน เคยขับไล่น้องชายที่ชื่อฟาริดออกจากบ้าน และบังคับไม่ให้ญาติพี่น้องคนอื่น ๆ ติดต่อกับฟาริดอีก เพียงเพราะเขาไม่ยอมไปช่วยงานร้านหนังสือของสุลต่าน แต่ไปเปิดร้านของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีกฎว่าพี่ชายคนโตต้องเป็นที่เคารพและเชื่อฟังของน้อง ๆ ในทุก ๆ ด้าน น้อง ๆ ของสุลต่านจะต้องถูกลงโทษหนักถ้าโต้เถียงกับพี่ชาย สุลต่านพยายามปกป้องการกระทำของตนเองโดยอ้างเหตุผลว่า “ถ้าครอบครัวไม่มีวินัยและไม่ขยันเอาการเอางาน ก็จะไม่มีทางฟื้นฟูประเทศอัฟกานิสถานให้เจริญรุ่งเรืองได้” (หน้า 125) ส่วนลูกชายของสุลต่าน คาน 3 คน ได้แก่ มานซูร์ อัคบาลและไอมาล ก็ไม่มีอิสรเสรีในชีวิตเพราะถูกพ่อบังคับให้ดูแลกิจการร้านหนังสือเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ลัทธิปิตาธิปไตยยังส่งผลครอบคลุมมาถึงการให้คุณค่าและความหมายแก่ผู้ชายเหนือผู้หญิง สถานะของผู้หญิงในระบบนี้ถูกจัดวางไว้เป็นกฎว่าผู้หญิงจะด้อยกว่าผู้ชายแง่ที่จะต้องพึ่งพา เชื่อฟังและสยบยอมต่อชาย ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะ แม่ เมีย ลูกสาวหรือน้องสาวก็ตาม
ในฐานะแม่ บีบีกุล แม่ของสุลต่าน ที่มีลูกถึง 13 คน แต่สถานภาพของบีบีกุลเมื่ออยู่ในบ้านก็เป็นเพียงผู้อาศัยพึ่งใบบุญของสุลต่านเท่านั้น และเพียงเพราะนางและลูกสาวคนเล็กไม่เชื่อฟังและมีความคิดเห็นขัดแย้งกับสุลต่าน ทั้งสองจึงถูกขับไล่ ต้องไปอาศัยอยู่กับฟารีด น้องของสุลต่านซึ่งถูกตัดขาดจากพี่ชายเช่นเดียวกัน สุลต่านก็ยังคงสร้างเกราะปกป้องตนเองโดยให้เหตุผลว่า “พี่น้องชาวอัฟกันไม่ค่อยรักกันเลย สมควรแล้วที่เราจะต้องแยกกันอยู่ ตอนที่อยู่กับผม พวกเขาน่าจะให้เกียรติผมบ้าง...หรือคุณว่าไง? ถ้าครอบครัวไร้ระเบียบวินัย เราจะสร้างสังคมที่เคารพกฎหมายและประเพณีได้อย่างไร? ...สังคมของเรากำลังวุ่นวายสับสน เพราะเพิ่งผ่านสงครามกลางเมืองมาหยก ๆ ถ้าไม่มีใครปกครองคนในครอบครัวตัวเองได้ ส่วนรวมก็จะล่มสลายไปทั้งหมด” (หน้า 278)
ในฐานะเมีย ชาริฟา ภรรยาคนแรกของสุลต่าน ก็ต้องหวานอมขมกลืน เมื่อสุลต่านมาแจ้งข่าวว่าเขาได้ไปสู่ขอซอนย่ามาเป็นภรรยาคนที่สอง ถึงแม้ทุกคนในครอบครัวจะไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะชาริฟาที่เสียใจอย่างที่สุด เพราะสุลต่านเลือกผู้หญิงที่ไม่มีการศึกษา ไม่เคยแม้กระทั่งเข้าโรงเรียนอนุบาล ในขณะที่ชาริฟาเป็นถึงครูสอนภาษาเปอร์เซีย แต่ชาริฟาก็ต้องฝืนใจทำหน้าชื่นเข้าร่วมงานหมั้นของสามี และเหมือนเช่นเคยไม่มีใครในครอบครัวกล้าขัดขวางความต้องการของสุลต่านได้
ในฐานะน้องสาวคนสุดท้อง ไลลา อายุ 19 ปี เป็นคนฉลาดเฉลียว เอางานเอาการ และเป็นผู้แบกภาระงานบ้านอันหนักอึ้ง เป็นผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดและเป็นปลายแถวท้ายสุดของลูกโซ่อำนาจในครอบครัว ถึงแม้ว่าไลลาจะเป็นผู้หญิงที่มีการศึกษา เธอจบชั้นมัธยมปลาย และมีความรู้ภาษาอังกฤษ แต่เมื่อเธอต้องการไปสมัครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ก็ยังคงต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไป เพราะ “แผนของเธอคือ ไปสมัครให้ได้ก่อนแล้วค่อยบอกสุลต่าน เพราะถ้าเขารู้เสียก่อนก็จะขัดขวาง แต่ถ้าเธอมีตำแหน่งงานรออยู่ เขาก็คงขัดไม่ได้ อีกอย่างเธอคงสอนแค่สามสี่ชั่วโมงในแต่ละวัน ถ้าเธอตื่นเช้าขึ้นและขยันขึ้นอีก ทุกอย่างก็จะลงตัว ไม่มีใครว่าได้” (หน้า 196) เมื่อเธออยู่ในบ้าน หน้าที่คือเข้าครัวเตรียมหุงหาอาหารทุกมื้อ “เธอถูกฝึกให้มีหน้าที่รับใช้ทุกคน ฟังคำสั่งของทุกคนในบ้าน และเป็นที่ระบายอารมณ์ของทุกคน เธอไม่เคยได้รับการดูแลหรือถนอมน้ำใจ เธอจะถูกกล่าวโทษ ถ้ามีอะไรขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นรอยด่างบนสเวตเตอร์ที่ซักไม่ออก หรืออาหารที่ไม่อร่อยถูกใจ เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วที่ทุกคนจะหันมาดุด่าว่ากล่าวไลลา เมื่อต้องการใครสักคนมารองรับอารมณ์บูดขอตน” (หน้า 182)
ทางด้านสังคมภายนอกผู้หญิงชาวอัฟกันถูกลิดรอนคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์โดยกฎของสังคม เช่น ในเรื่องการหย่าร้าง ถ้าผู้หญิงที่ผ่านการหย่าร้างจะถูกตราหน้าว่านำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล เป็นที่รังเกียจในสังคม และถ้าผู้หญิงกล้าลุกขึ้นมาหย่าสามี จะต้องสูญเสียสิทธิประโยชน์ทุกอย่างในชีวิต ฝ่ายชายจะได้ลูกไปและสามารถสั่งห้ามมิให้ฝ่ายหญิงไปเยี่ยมลูกโดยไม่ต้องพึ่งอำนาจศาล และทรัพย์สินทั้งหมดจะต้องตกเป็นของฝ่ายชาย ดังนั้นชาริฟา ภรรยาของสุลต่าน คาน จึงต้องทนหวานอมขมกลืนอยู่กับสุลต่าน ถึงแม้เธอจะเป็นแม่และเมียที่ดีก็ตาม เพราะถ้าเธอหย่าขาดจากสุลต่าน เธอจะไม่สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข คงต้องซมซานไปอาศัยอยู่บ้านพี่น้องที่เป็นผู้ชายคนใดคนหนึ่งในสภาพที่สูญสิ้นทุกอย่างที่เคยมีในชีวิต
มิพักจะต้องพูดถึงเรื่องหย่าร้าง ในสังคมอัฟกัน การโหยหาความรักเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับผู้หญิง คำสั่งห้ามของพวกมุลลอฮ์และประเพณีพื้นเมืองในเรื่องเกียรติและศักดิ์ศรี ทำให้คนหนุ่มสาวไม่มีสิทธิ์นัดพบใคร ไม่สามารถเลือกรักหรือรักใครอย่างอิสระ ใครที่ไม่รู้จักสำรวมตนอาจถูกฆ่าอย่างทารุณ และถ้าต้องตัดสินระหว่างชายกับหญิงว่าใครผิดสมควรจะถูกประหาร ผู้รับกรรมจะต้องเป็นฝ่ายหญิงในทุกกรณี เช่นในกรณีของซาลิคา หญิงสาวอายุ 16 ปี เพียงแค่เธอแอบไปคุยกันในสวนสาธารณะกับชายหนุ่ม เพื่อวาดฝันในเรื่องของอนาคตร่วมกัน เมื่อถูกจับได้เธอถูกคนในครอบครัวเฆี่ยนตีจนร่างกายบอบช้ำ และครอบครัวของเธอรู้สึกอับอายขายหน้าเพื่อนบ้านเพราะเป็นการละเมิดศีลธรรมขั้นร้ายแรง
หรือกรณีของญามิลา เพื่อบ้านของชาริฟา เธอมาจากครอบครัวผู้ดีมีเงิน และได้แต่งงานกับเจ้าบ่าวที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ เมื่อแต่งงานได้สองอาทิตย์ เจ้าบ่าวต้องกลับไปต่างประเทศเพื่อขอ วีซ่าให้กับญามิลา ระหว่างนั้นญามิลาพักอยู่ที่บ้านพี่ชายของเจ้าบ่าวซึ่งแต่งงานแล้ว เรื่องร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับญามิลา เกิดขึ้นเมื่อตำรวจมารายงานว่าเห็นผู้ชายคนหนึ่งปีนหน้าต่างเข้าห้องของเธอ และพี่สามีค้นพบข้าวของของชายผู้นั้นในห้องของญามิลา เธอจึงถูกไล่ออกจากบ้านกลับไปอยู่ที่บ้านเดิม สามวันต่อมา พี่ชายของเธอก็แจ้งว่าญามิลาเสียชีวิตแล้วเพราะไฟฟ้าชอร์ต แต่แท้จริงแล้วเป็นคำสั่งของแม่แท้ ๆ ของเธอที่ให้ลูกชายสามคนลงมือสังหารญามิลาลูกสาวของนางโดยใช้หมอนกดหน้า นับเป็นโศกนาฏกรรมในชีวิตของผู้หญิงชาวอัฟกันที่ไร้ทางต่อสู้
ในทางกายภาพ ผู้หญิงชาวอัฟกันเมื่อออกจากบ้านต้องคลุมผ้าบูร์กาให้มิดชิด และภายใต้ผ้าคลุมยังมีเสื้อผ้าอีกหลายชั้น ใต้กระโปรงมีกางเกงขายาว แม้ในยามอยู่บ้านก็ไม่ค่อยสวมเสื้อเปิดคอ ยิ่งในสมัยของตาลีบันเรืองอำนาจแม้แต่การทาเล็บเท้าซึ่งเป็นส่วนที่อยู่นอกเหนืออาณาเขตของชายผ้าบูร์กาก็ถือเป็นความผิดร้ายแรง ผู้หญิงที่ขัดคำสั่งจะถูกลงโทษโดยการตัดปลายนิ้วมือนิ้วเท้า นอกจากนี้สิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ เช่นการใช้บริการขนส่งมวลชน พวกผู้หญิงก็ไม่รับความเสมอภาค พวกเธอต้องขึ้นรถเมล์ทางประตูหลังแล้วนั่งบนที่นั่งหลังม่านแถวหลังของรถเมล์ ซึ่งมีที่นั่งไม่มากนัก
หลังยุคตาลีบันหมดอำนาจ ความเข้มงวดที่มีต่อผู้หญิงชาวอัฟกันเริ่มผ่อนคลาย ผู้หญิงชาว อัฟกันเริ่มมีพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น การเริ่มมีอิสรภาพทำให้ความรู้สึกของการที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่ข่มเหง ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้ มีการก่อตั้งองค์กรหรือหน่วยงานเกี่ยวกับสตรีหลายองค์กร องค์กรสตรีรายหนึ่งพยายามปลุกระดมให้มีการเดินขบวนเพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิสตรี แต่ทางการก็ส่งเจ้าหน้าที่มาสลายการชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่า ในระยะหลังผู้หญิงสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากขึ้น มีการผลิตนิตยสารสำหรับผู้หญิง ผู้หญิงหลายคนเริ่มเข้ามามีบทบาทในสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำได้เฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูงหรือผู้มีการศึกษาเท่านั้น แต่ในระดับรากหญ้าผู้ชายยังคงครองอำนาจในครอบครัวและผู้หญิงก็ยังคงไม่มีสิทธิ์มีเสียงอยู่เช่นเดิม
ในยุคที่ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีกำลังพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ประชากรส่วนใหญ่ในสังคมโลกกำลังเสพสุขอยู่กับเสรีภาพอันหอมหวาน นวนิยายเรื่องถนนหนังสือสายคาบูล ได้ตอกย้ำให้เห็นว่า คำว่าอิสรภาพ เสรีภาพและความเท่าเทียมกันในสังคมเป็นสิ่งที่ผู้คนในอีกสังคมหนึ่งโหยหามาชั่วชีวิต แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าทุกสิ่งที่ปรารถนาจะได้มาในวันใด และอาจสะกิดใจให้ผู้คนที่อยู่ในโลกเสรีได้ตระหนักถึงคุณค่าของคำว่าเสรีภาพที่ตนเองมีอยู่ได้มากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น